'สหรัฐฯ'กดดัน'จีน-อาเซียน'ให้เร่งทำ “แนวทางปฏิบัติ” แก้กรณีพิพาททะเลจีนใต้
เอเจนซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ กดดันทั้งจีนและอาเซียนเมื่อวันจันทร์ (1ก.ค.) ให้เร่งสร้างความคืบหน้าในแผนการที่มุ่งผ่อนคลายความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ โดยกล่าวเตือนให้ประเทศเอเชียเหล่านี้ระลึกว่า วอชิงตันก็มีผลประโยชน์แห่งชาติของตนเกี่ยวข้องอยู่ในกรณีพิพาทในอาณาบริเวณนี้ด้วย
เคร์รีซึ่งเดินทางถึงบรูไนเพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ออกมาพูดเรื่องนี้ภายหลังจากในวันอาทิตย์ (30มิ.ย.) รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนแถลงว่า แดนมังกรกับอาเซียนตกลงที่จะจัดการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อจัดทำข้อตกลง “แนวทางปฏิบัติ” (Code of Conduct) เกี่ยวกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ในเดือนกันยายนนี้
ขณะที่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถือเป็นการก้าวไปข้างหน้า แต่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ก็ไม่คิดว่าเป็นการผ่าทางตันอย่างสำคัญอะไรนัก ทั้งนี้ มีการใช้ความพยายามมานานปีแล้วเพื่อให้แดนมังกรกับอาเซียนทำความตกลงชนิดที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย เกี่ยวกับความประพฤติที่ถูกที่ควรในอาณาบริเวณซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และจีนกับหลายชาติอาเซียนอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่
“เรามีผลประโยชน์และความสนใจอย่างแรงกล้า เกี่ยวกับท่าทีวิธีการในการคลี่คลายแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ของทะเลจีนใต้ และเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ” เคร์รี กล่าว “เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นความก้าวหน้าโดยเร็ว ในเรื่องข้อตกลงแนวทางปฏิบัติที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อช่วยค้ำประกันเสถียรภาพในภูมิภาคอันสำคัญยิ่งนี้”
ในคำแถลงร่วมภายหลังการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน กับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเมื่อวันอาทิตย์ ฝ่ายแดนมังกรระบุว่าได้ตกลงที่จะจัด “การปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการ” เกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องข้อตกลงแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจะวางกรอบดูแลการปฏิบัติการต่างๆ ทางนาวีในทะเลจีนใต้ ในระหว่างการประชุมหารือของเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนกับอาเซียนในประเทศจีนเดือนกันยายนนี้
เคอร์รี ระหว่างร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ)
ก่อนหน้านี้ จีนแทบไม่สนใจที่จะรีบเร่งเปิดการเจรจาเรื่องนี้ โดยที่พวกนักวิจารณ์บอกว่า แดนมังกรนั้นตั้งใจที่จะอาศัยแสนยานุภาพทางนาวีที่เหนือชั้นกว่าพวกชาติอาเซียนมาก มาสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของตนมากกว่า
ภายหลังทราบท่าทีล่าสุดของจีนแล้ว เอียน สตอเรย์ นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า การเริ่มเปิดการเจรจาเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาณในทางบวก เพราะในที่สุดจีนก็แสดงความปรารถนาที่จะร่วมหารือเรื่องแนวทางปฏิบัตินี้กับอาเซียน แต่เขาบอกว่า มันยังไม่ใช่เป็นก้าวเดินที่คืบหน้าอย่างสำคัญอะไรนัก
“เมื่อพิจารณาจากเรื่องที่จีนขาดความกระตือรือร้นที่จะให้มีการจัดทำข้อตกลงแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการและมีประสิทธิภาพ พวกเจ้าหน้าที่จีนจึงน่าที่จะพยายามลากดึงการเจรจาให้ยืดเยื้อออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เขาชี้
เขาระบุด้วยว่า จีนยังน่าที่จะพยายามทำให้เป็นที่แน่ใจได้ว่า ข้อตกลงสุดท้ายในเรื่องแนวทางปฏิบัตินี้ จะไม่ขัดขวางไม่ให้แดนมังกรยืนกรานอ้างกรรมสิทธิ์ของตนต่อไป
รัฐมนตรี หวัง ของจีนเอง แถลงย้ำว่า การตกลงเกี่ยวกับข้อตกลงกรอบโครงฉบับใหม่นี้จะคืบหน้าไปได้เพียงใด ต้องขึ้นอยู่กับการที่ประเทศต่างๆ ต้องเดินตาม “ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติ” ซี่งแดนมังกรกับอาเซียนได้ลงนามกันไว้ในปี 2002 โดยที่ปฏิญญาฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ แต่ถือเป็นมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประเทศที่เกี่ยวข้อง ทว่าเท่าที่ผ่านมาจีนกับฟิลิปปินส์ต่างกล่าวหากันและกันว่าอีกฝ่ายละเมิดเจตนารมณ์ของปฏิญญาฉบับนี้
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ ของฟิลิปปินส์ ก็แสดงปฏิกิริยาในทางเย็นชาในคืนวันอาทิตย์ เมื่อถูกสอบถามถึงความสำคัญของการเริ่มเปิดเจรจากันคราวนี้
“ข้อตกลงที่เกิดขึ้นมาก็คือ จะมีกระบวนการที่จะเริ่มต้นขึ้นด้วยการพบปะหารือกันในจีน … ผมนั้นปรารถนาเหลือเกินที่จะเชื่อว่าจีนมีความกระตือรื้อร้นในเรื่องของการเดินหน้าไปในกระบวนการดังกล่าวนี้”