เวที รมว.ต่างประเทศอาเซียนระอุ “ปินส์” จวกปักกิ่งสั่งสมกำลังทหารในทะเลจีนใต้
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ฟิลิปปินส์ออกมากล่าวหาจีนเมื่อวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) คุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคด้วยการสั่งสมกำลังทหาร “มหึมา” ในทะเลจีนใต้ รวมทั้งส่งเรือทหารและเรือกึ่งทหารมายัง 2 หมู่เกาะเล็กๆ ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของแดนตากาล็อก ขณะที่สื่อมวลชนทางการแดนมังกรก็ออกมาฮึ่มฮั่มว่า ถ้าหากมะนิลายังคงท้าทายไม่เลิก ก็ยากที่ปักกิ่งจะหลีกเลี่ยงไม่ทำการโจมตีตอบโต้
ท่าทีของฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในรูปการแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ ในระหว่างที่เขาเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่าความขัดแย้งจากการที่จีนและหลายชาติสมาชิกอาเซียนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการหารือประจำปีคราวนี้
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมของเหล่ารัฐมนตรีอาเซียนกันเองแล้ว ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ และในวันต่อๆ ไป ก็จะเป็นการพบประชุมระหว่างอาเซียนกับพวกประเทศคู่เจรจา โดยกำหนดการซึ่งเป็นที่สนใจจับตามากที่สุด ย่อมเป็นการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum ใช้อักษรย่อว่า ARF) ซึ่งจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศของพวกมหาอำนาจ อย่างเช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย เป็นต้น เข้าร่วม และในปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันอังคาร (2 ก.ค.)
“ฟิลิปปินส์มองด้วยความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ต่อกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นทางการทหารในทะเลจีนใต้” เดล โรซาริโอ บอกกับพวกเพื่อนรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐสมาชิกสมาคมอาเซียน
“การปรากฏตัวอย่างหนาแน่นท่วมท้นของเรือของจีน ซึ่งมีทั้งเรือทหารและเรือกึ่งทหารด้วย ตลอดจนการออกมาแถลงข่มขู่คุกคาม ต้องถือเป็นความท้าทายอันหนักหนาสาหัสสำหรับภูมิภาคแถบนี้โดยองค์รวม”
นอกจากนั้น เดล โรซาริโอ ยังได้ออกคำแถลงเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการที่จีนสั่งสมกำลังทหารอย่าง “มหึมา” ในทะเลจีนใต้
คำแถลงนี้ระบุว่า จีนได้ส่งเรือจำนวนมาก โดยมีทั้งเรือทหารและเรือของกึ่งทหาร ไปยังหมู่เกาะเล็กๆ 2 กลุ่ม ที่มีชื่อเรียกว่า สันดอนสการ์โบโร และสันดอนเซกคันด์ ธอมัส ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์
การปรากฏตัวทางหทารเช่นนี้ ถือเป็นการคุกคามต่อความพยายามในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค เดล โรซาริโอ กล่าว
ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศแดนตากาล็อก ยังได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า “เราถูกกีดขวางไม่ให้ทำการประมงภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของเราเองแท้ๆ ไม่ให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเราเองและจากการบังคับใช้กฎหมายของเราเอง”
เดล โรซาริโอ ระบุว่า การกระทำของจีนเป็นละเมิดข้อตกลงในปี 2002 (ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ปี 2002) ซึ่งบรรดาประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน ให้สัญญาว่า จะไม่ดำเนินการใดๆ ที่อาจจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น
ปฏิญญาซึ่งถือเป็นคำประกาศที่ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแม้ลงนามโดย 10 ชาติสมาชิกอาเซียนกับจีนฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า ประเทศที่อ้างสิทธิ์จะหาทางตกลงข้อพิพาท โดยไม่ใช้การคุกคามหรือกำลังแต่อย่างใด
ปักกิ่งนั้นอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้แทบทั้งหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งน่านน้ำที่อยู่ใกล้ชายฝั่งของประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่หลายชาติสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย ตลอดจนไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิ์ในน่านน้ำบางส่วนของทะเลแห่งนี้
ข้อพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้นี้ ดำเนินมายาวนานมานับทศวรรษและเป็นสาเหตุหนึ่งของความตึงเครียดในภูมิภาค โดยจีนและเวียดนามเคยถึงขั้นรบกันในปี 1947 และ 1988 เพื่อควบคุมเกาะบางแห่ง ซึ่งจบลงด้วยการสังเวยชีวิตของทหารเวียดนามหลายสิบนาย
ความตึงเครียดได้ปะทุขึ้นอีกคำรบหนึ่งในระยะไม่กี่ปีหลังๆ นี้ สืบเนื่องจากการที่จีนแสดงความแข็งกร้าวยืนกรานทางทหารและการทูตมากขึ้น เพื่อยึดครองทะเลจีนใต้
เหรินหมินรึเป้า หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งเอาไว้ในฉบับวันเสาร์ (29 มิ.ย.) ซึ่งมีเนื้อหาเตือนว่า การที่ฟิลิปปินส์ยังคงท้าทายจีน อาจนำไปสู่การปฏิบัติการอย่างแข็งกร้าวของปักกิ่ง
“ถ้าหากฟิลิปปินส์ยังคงยั่วยุจีน … การโจมตีตอบโต้ก็เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง” บทวิจารณ์นี้ระบุในตอนหนึ่ง
เดล โรซาริโอโต้กลับวันอาทิตย์ ว่า “คำแถลงเกี่ยวกับการโจมตีถือว่าไร้ความรับผิดชอบ เราประณามการขู่ใช้กำลังทุกรูปแบบ และเราจะยังคงหาทางแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติวิธีต่อไป”
อาเซียนได้ใช้ความพยายามมากว่าทศวรรษในการโน้มน้าวให้จีนยอมรับข้อตกลงแนวทางปฏิบัติชนิดที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อควบคุมการดำเนินการใดๆ ในทะเลจีนใต้ โดยที่ผ่านมาจีนแสดงการต่อต้านไม่ยินยอม ด้วยความวิตกว่าการอ่อนข้อใดๆ อาจสั่นคลอนการอ้างกรรมสิทธิ์ของตนให้อ่อนแอลงไป
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนกับจีน ในตอนบ่ายวันอาทิตย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนได้แจ้งกับบรรดารัฐมนตรีของอาเซียนว่า ประเทศของเขาได้ตกลงที่จะเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงแนวทางปฏิบัติ ในระหว่างการประชุมหารือของทั้งสองฝ่ายซึ่งได้มีกำหนดนัดหมายไว้อยู่แล้วว่าจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในเดือนกันยายนนี้
แต่ หวังเตือนด้วยว่า จะยังไม่มีการทำข้อตกลงออกมาอย่างรวดเร็ว โดยเขาเน้นว่า “การปรึกษาหารือกัน” นี้ จะเป็น “กระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป”
ท่าทียอมเจรจาในประเด็นปัญหานี้ ได้รับเสียงตอบรับแตกต่างกันไปจากเหล่าสมาชิกอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ของไทยนั้น พูดถึงเรื่องนี้ว่า เป็น “พัฒนาการที่สำคัญมาก”
ขณะที่ มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย แม้แสดงความยินดีกับข่าวนี้ แต่ก็เน้นย้ำว่า การดำเนินการทางการทูตจะได้ผลก็ต่อก่อนอื่นใดเลยทุกๆ ฝ่ายต้องแสดงความยับยั้งชั่งใจ