รองเลขาฯ สมช. ชี้การเมืองแบ่งสีกระทบความมั่นคง ยันสถาบันกษัตริย์ต้องดำรงไว้

การประชุมวิชาการมิติความมั่นคงประชาคมอาเซียน รองเลขาธิการ สมช.ชี้ปัญหาแตกแยก แบ่งสีแบ่งฝ่าย และการใช้ความรุนแรงบั่นทอนความมั่นคงภายในประเทศ ยันสถาบันกษัตริย์ต้องดำรงไว้ ด้านนักการทูต กต.แนะไทยต้องเป็นเพื่อนกับทุกคน เป็นมิตรกับทุกฝ่าย
       
       วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ เมื่อเวลา 09.30 น. โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ร่วมกับสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการด้านความมั่นคงศึกษา ในหัวข้อเรื่อง “มิติความมั่นคงที่เปลี่ยนไปในบริบทของประชาคมอาเซียน 2015” โดยมี นายอดิศักดิ์ ตันยากุล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) น.ส.ฉัตรวดี จินดาวงษ์ นัการทูตชำนาญการ กระทรวงการต่างประเทศ
       
       โดยนายอดิศักดิ์กล่าวต่อนหนึ่งระหว่างการเสวนาว่า สิ่งแวดล้อมด้านความมั่นคงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มองว่าในปี 2015 ความมั่นคงจะมีความซับซ้อน ลึกซึ้ง และแหลมคมมากขึ้น ดังนั้น คนที่ทำงานด้านความมั่นคงคงต้องเหนื่อยขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายแผนพัฒนาด้านความมั่นคงในปี 2555-2559 เรื่องความมั่นคงภายในประเทศมีการวิเคระห์กันว่า เป็นภัยคุกคามที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะปัจจุบันปัญหาเรื่องความแตกแยก การแบ่งสีเป็นฝักเป็นฝ่าย รวมถึงความนิยมใช้ความรุนแรงที่กลายเป็นสนิมในเนื้อเหล็กจะบั่นทอนความมั่นคงภายในประเทศจนส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยถูกมองข้ามหรือเป็นเพียงทางผ่านของอาเซียนเท่านั้น ตลอดจนความมั่นคงในสถาบันหลักของชาติ ซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน ตนมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เหมือนในต่างประเทศ จึงมีความสำคัญที่ต้องดำรงไว้
       
       ด้าน น.ส.ฉัตรวดีกล่าวว่า การรวมตัวกันของกลุ่มอาเซียนเพื่อป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ในอดีตจะเน้นเรื่องการเมืองและความมั่นคง แต่ปัจจุบันจะเน้นความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ และกำลังจะก้าวเข้าสู่ความมั่นคงด้านสังคม เพราะฉะนั้นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเปลี่ยนไปด้วย รวมถึงการแข่งขันและผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจจะมีความซับซ้อน เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นเพื่อนกับทุกคน เป็นมิตรต่อทุกฝ่าย และต้องคอยดูว่าใครจะเข้ามาให้ผลประโยชน์กับภูมิภาคของเรา ทั้งนี้กลุ่มประเทศในอาเซียนจะต้องมีความร่วมมือกันมากขึ้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ปัญหาจะมีลักษณะการข้ามพรหมแดน รวมถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดหมอกควันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

239

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน