“พม่า”เนื้อหอม เมืองท่องเที่ยวดาวเด่นดวงใหม่แห่งอาเซียน

ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดประเทศหนึ่งก็คือ “ประเทศเมียนมาร์” หรือ “พม่า” ที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
       
       หลายสิบปีที่พม่าปิดประเทศด้วยสาเหตุจากความไม่สงบทางการเมือง ตัดขาดความสัมพันธ์กับโลกภายนอกมานานนับสิบปี แต่ภายใต้ฉากหน้าของรัฐบาลทหารเผด็จการ หลายคนทราบดีว่าพม่าอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ พม่าจึงเป็นขุมทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับจ้องอย่างไม่ละสายตา
       
       ในด้านการท่องเที่ยว พม่านับว่าเป็นประเทศเนื้อหอมที่นักท่องเที่ยวต่างก็อยากเดินทางไปสัมผัส โดยข้อมูลจาก Ministry of Hotels and Tourism ของประเทศเมียนมาร์ระบุว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของพม่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2554) มีแนวโน้มขยายตัว จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังพม่าจำนวน 1.93 แสนคนในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 3.91 แสนคนในปี 2554 ซึ่งหากเทียบกับบ้านเราถือว่าจำนวนยังน้อยกว่ากันมาก แต่หากดูจากค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.5 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2552-2554 ต้องถือว่าไม่ธรรมเลยทีเดียว อีกทั้งด้านรายได้ท่องเที่ยวของพม่าในปี 2551 มีมูลค่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ได้เพิ่มเป็น 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24.7 ต่อปี


พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งตระหง่านบนหน้าผาสูงในเมืองไจก์โถ่

       เหตุที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมายังพม่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดี เจ้าของรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุด และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ซึ่งได้นำคณะทัวร์มาเยือนพม่าหลายครั้ง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในพม่าว่า
       
       “อาจเป็นเพราะพม่าปิดประเทศมานาน อะไรที่คนไม่เคยรู้ก็เลยอยากจะรู้ อยากจะไปเห็น และพม่าก็มีแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก หนึ่งเพราะการที่พม่าปิดประเทศสมัยเป็นเผด็จการทหารทำให้แหล่งโบราณสถานไม่ถูกทำลายมากนัก และสอง ชาวพม่าเป็นคนมีศรัทธาเหนียวแน่นในพระพุทธศาสนา เขาได้บำรุงรักษาโบราณสถานของเขาไว้เป็นอย่างดี ผมไม่ได้หมายความว่าการตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหารนั้นดี แต่มันทำให้โบราณสถานเหล่านั้นคงสภาพดีจนปัจจุบัน” ธีรภาพ กล่าว
       
       “จุดแข็งของการท่องเที่ยวของพม่าคือแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีมากมายเหลือเกิน โดยที่คนพม่าเองไม่ได้สนใจว่านักท่องเที่ยวจะมาหรือไม่ แต่เขายังคงไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิตามปกติของเขา อีกอย่างหนึ่งแหล่งโบราณสถานของพม่าเป็นแหล่งโบราณสถานที่ที่ยังมีชีวิต มีชีวิตของผู้คน ไม่ใช่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีแต่ซากโบราณสถานแล้วย้ายคนออกไปหมด แต่ที่นี่ยังมีผู้คนอยู่อาศัยร่วมกัน และคนเหล่านั้นก็ดูแลบำรุงรักษาสถานที่แห่งนั้นๆ ไว้ด้วย ส่วนเรื่องจุดอ่อนก็เป็นพวกเรื่องการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว ถนนหนทาง รถนำเที่ยวต่างๆ แต่เหล่านี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้” ธีรภาพ ให้ความเห็น


พระมหามัยมุนี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมัณฑะเลย์

       เมื่อถามถึงแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในพม่า ธีรภาพกล่าวว่ามีมากมาย ทั้งเมืองที่นักท่องเที่ยวไทยรู้จักกันดีอย่างย่างกุ้ง ซึ่งมีมหาเจดีย์ชเวดากองเป็นศูนย์รวมศรัทธาสูงสุด ที่เมืองมัณฑะเลย์ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือพระมหามัยมุนี ที่มี “พิธีล้างพระพักตร์” ให้องค์พระพุทธรูปปฏิบัติสืบทอดกันมานับเป็นเวลาร้อยปี เมืองพุกาม ได้ชื่อว่าเป็นเมืองทะเลเจดีย์สี่พันองค์ ที่แสดงถึงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวพม่า ส่วนทะเลสาบอินเลก็เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ไม่ควรพลาดชม ส่วนเมืองที่คนยังไม่ค่อยรู้จักก็เช่นเมืองสิเรียมที่เป็นเมืองท่าสำคัญบนปากแม่น้ำอิรวดี รัฐฉานทั้งรัฐที่มีความน่าสนใจ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทใหญ่ และอีกหลากหลายเมืองในพม่าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นต่างกันไป
       
       การเข้าไปท่องเที่ยวในพม่าต้องมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่การผ่านเข้าประเทศ ต้องเสียค่าภาษีสนามบิน ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะเก็บค่าเข้าชมเป็นเงินดอลล่าร์ แต่ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพงที่สุดก็คือโรงแรมที่พัก เนื่องจากตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนพม่าเป็นจำนวนมาก โรงแรมต่างๆ จึงขึ้นราคากันเป็นเท่าตัว ธีรภาพกล่าวว่า โรงแรมบางแห่งสภาพเท่าโรงแรม 2 ดาว แต่ราคาเป็นร้อยเหรียญ เนื่องจากที่พักมีน้อย แต่ความต้องการห้องพักมีมาก ราคาจึงแพงมากตามไปด้วย
       
       อีกหนึ่งมุมมองต่อการท่องเที่ยวของพม่าจากนักเดินทางและนักเขียนสารคดีผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในแถบประเทศเพื่อนบ้านอีกท่านหนึ่งก็คือ ศรัณย์ บุญประเสริฐ ที่กล่าวถึงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวของพม่าไว้อย่างน่าสนใจว่า ในเว็บไซต์ของยูเนสโกจะมีสถานที่ท่องเที่ยวของพม่าหลายแห่งขึ้นอยู่ใน Tentative List (รายชื่อสถานที่ที่มีความน่าสนใจรอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก) ทั้งๆ ที่พม่าไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก แต่หากคณะกรรมการเห็นว่าสถานที่นั้นๆ มีคุณค่าก็สามารถเสนอชื่อขึ้นอยู่ในลิสต์ได้ แต่จะประกาศเป็นมรดกโลกไม่ได้ถ้าประเทศที่เป็นเจ้าของสถานที่นั้นไม่ได้เสนอชื่อและไม่มีแผนการจัดการ


พระราชวังมัณฑะเลย์

       “ผมพูดได้ว่า มรดกโลกจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ทันทีถ้าไม่มีพุกาม มรดกโลกมีล้านแปด บางแห่งก็บ้าๆ บอๆ แต่มรดกโลกจะไม่มีพุกามได้อย่างไร ไม่มียะไข่ได้อย่างไร เหมือนกับถ้าปิรามิดไม่ได้เป็นมรดกโลก มันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ตอนนี้เหลือสถานที่ที่โดดเด่นทางวัฒนธรรมเหลืออยู่ไม่กี่แห่งที่ไม่ได้เข้าเป็นมรดกโลก พม่าก็เป็นแห่งหนึ่ง และผมคิดว่ายูเนสโกแทบจะปูเสื่อรอจูงมือมาพม่าให้มาเข้าเป็นสมาชิก แต่พม่าก็ไม่เข้าง่ายๆ เพราะพม่าไม่ได้สนใจยูเนสโก ตอนนี้เขาได้เงินจากการท่องเที่ยวอยู่แล้ว และได้เยอะด้วย พุกามจะเป็นมรดกโลกหรือไม่ไม่สำคัญ เขาไม่จำเป็นต้องมียูเนสโก ไม่จำเป็นต้องมีป้ายอะไร” ศรัณย์ กล่าว
       
       ด้านทางฝั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยว พัชรภรณ์ จุลพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายขายบริษัท พี สมายด์ ทราเวล จำกัด กล่าวถึงกระแสการท่องเที่ยวในประเทศเมียนมาร์ว่า ในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยต้องการเดินทางไปเที่ยวพม่าเพิ่มขึ้นมาก และถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียน แม้จะยังมีบางเมือง เช่น ยะไข่ กับรัฐคะฉิ่น ที่ยังไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป โดยมองว่าศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของพม่ามีจุดเด่นอยู่ที่โบราณสถานอันทรงคุณค่า แม้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจะยังไม่มีความโดดเด่นมากนัก ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่ทัวร์ไทยส่วนมากนิยมไปเที่ยวกันก็คือที่เมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และพุกาม
       
       ทั้งนี้หากพูดถึงบริการด้านการท่องเที่ยว พัชรภรณ์กล่าวว่า พม่ามีความพร้อมดีขึ้น เริ่มนำรถนำเที่ยวเข้ามามากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหารก็มีมากขึ้นเพราะคนจากหลากหลายประเทศเริ่่มเข้าไปเปิดร้านอาหารกัน ส่วนโรงแรมก็มีให้เลือกหลายระดับแล้วแต่ราคา แต่โรงแรมแต่ละแห่งมีจำนวนห้องค่อนข้างน้อย และราคาสูง ยกเว้นโรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีห้องพักจำนวนมากไว้รองรับคณะใหญ่ๆ


สาวชาวพม่าหน้าตาคมเข้ม

       ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงนี้สายการบินต่างๆ โดยเฉพาะในบ้านเรา จะเพิ่มเที่ยวบินตรงไปยังเมืองต่างๆ ของพม่า ทางพม่าเองแม้จะรับทรัพย์จากการท่องเที่ยวมาเข้ากระเป๋าจำนวนมหาศาลแล้ว แต่ก็ยังมีแผนที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวและจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นไปอีก โดยล่าสุดก็ได้เปิดตัวแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวมูลค่าเกือบ 500 ล้านเหรียญ ที่ทำร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และรัฐบาลนอร์เวย์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ปกป้องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สำคัญ และปกป้องรักษาชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ (ethic communities) และวางโครงสร้างแนวทางเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่พม่า โดยไม่คุกคามแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม หรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อีกทั้งยังตั้งใจว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้นเป็น 7.5 ล้านคนในปี 2563 หรือคิดเป็น 7 เท่าของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปัจจุบัน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 1.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากพม่ามุ่งมั่นพัฒนาและมีผู้ร่วมสนับสนุนเป็นอย่างดีแล้ว ก็เชื่อได้ว่าเป้าหมายที่ฝันคงจะไม่ไกลเกินไป
       
       ส่วนไทยเราต้องเลิกมองพม่าอย่างศัตรูคู่แค้น เลิกมองเจดีย์ชเวดากองแล้วนึกถึงทองจากกรุงศรีอยุธยา แต่ควรหันกลับมายอมรับว่าพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกันมายาวนาน เป็นเพื่อนบ้านที่แม้จะเริ่มลุกช้า แต่ก็ออกเดินอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังควรเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกับพม่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึงนี้ดีกว่า

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

265

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน