เผยผลสำรวจคาดการณ์เงินเดือนปี ่57 ลูกจ้างได้เพิ่ม 5.8% ชี้เวียดนามได้ 12% มากที่สุดในอาเซียน
ทาวเวอร์ส วัทสัน คาดการณ์ปี 2557อัตราเงินเดือนคนไทยเพิ่ม 5.8 % ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนเวียดนามครองอันดับหนึ่งในอาเซียนเงินเดือนขึ้น12% ด้านอัตราการว่างงานประเทศไทยอยู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคคือ 1% ชี้ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอาจส่งผลกระทบระยะยาว
ทาวเวอร์ส วัทสัน ที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก เปิดเผยผลสำรวจประจำปี 2012เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน โดยรวบรวมข้อมูลจากบริษัทต่างๆ ใน 18 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่าแนวโน้มการปรับอัตราเงินเดือนของประเทศไทยในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5.8% ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นมาเลเซีย (5.5%) เกาหลี (5.35%) และสิงคโปร์ (4.5%)
จากการสำรวจลูกจ้างทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการบริหาร ผู้บริหารระดับกลาง จนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการและฝ่ายผลิต รวมถึง ภาคธุรกิจต่างๆ พบว่าอัตราเงินเดือนของการทำงานในหน้าที่ต่างๆ ล้วนเพิ่มขึ้นพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม พบว่าภาคการเงินมีแนวโน้มจะมีอัตราเงินเดือนเพิ่มสูงกว่าภาคอื่นๆ เล็กน้อย คือ 6.5% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 3.2%
ตามรายงานของทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าประเทศที่จะมีอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นสูงสุดคือบังคลาเทศ (12.05%) เวียดนาม (12%) อินเดีย (11.2%) อินโดนีเซีย (9%) จีน (8.75%) และฟิลิปปินส์ (7%) ส่วนญี่ปุ่นกับบรูไนมีอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นต่ำสุดคือ 2% และ 1% ตามลำดับ
พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถิติความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือนที่ได้จากการสำรวจเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญ จะช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนงบประมาณการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับพนักงานล่วงหน้าได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในภูมิภาคคือ 1% ถึงแม้ตัวเลขการว่างงานดังกล่าวนี้จะสูงกว่าปีก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยคือ 0.8 เปอร์เซ็นต์ แต่เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยกำลังเผชิญความกดดันในตลาดงาน เพราะถึงแม้อัตราการว่างงานต่ำจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยสะท้อนให้เห็นอุปสงค์ (demand) ของสินค้าและบริการในระดับสูง แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบได้ในระยะยาว
“ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ และยังคงขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านภาษา ด้วยเหตุนี้ ลูกจ้างชาวไทยจึงต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งในภูมิภาค รวมถึงคู่แข่งจากอินเดียและฟิลิปปินส์” พิชญ์พจี กล่าวทิ้งท้าย