สธ. จัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน เตือน ประชาชนให้ป้องกันตนเอง




สธ. จัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน เตือน ประชาชนให้ป้องกันตนเอง

          สธ. จัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน เตือน ประชาชนให้ป้องกันตนเอง หลังพบโรคไข้เลือดออกคร่าชีวิตคนไทยแล้วกว่า 50 ราย

          สธ.จัดงาน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" หวังกระตุ้นเตือนประชาคมอาเซียน และตอกย้ำให้คนไทยตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันตนเอง หลังพบไข้เลือดออกคร่าชีวิตคนไทยแล้วกว่า 50 ราย ย้ำ!!ไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยยึดหัวใจสำคัญ 2 ข้อ ข้อ 1 กำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคด้วยการปฏิบัติตามยุทธการ 5 ป. 1 ข. เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย และข้อ 2 หากพบอาการที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกต้องพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที

          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการจัดงาน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" : "ASEAN Dengue Day" ว่างานวันไข้เลือดออกอาเซียนครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนประชาคมอาเซียนและตอกย้ำคนไทยให้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก เพราะถือว่าปัญหาของโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาในระดับภูมิภาค ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น บางประเทศในกลุ่มเอเซียนก็มีปัญหาโรคไข้เลือดออกเช่นกัน เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคที่ร้อนชื้นเหมาะต่อการขยายพันธุ์ของยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก และขณะนี้ก็เข้าสู่ฤดูกาลแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกแล้ว ประกอบกับมีการพยากรณ์เอาไว้ว่า ปี 2556 นี้จะมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะมากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 3 เท่าตัว หากประชาชนไม่ตระหนักในการป้องกันตนเองและร่วมมือกันป้องกันควบคุมโรคกันอย่างจริงจัง คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 – 150,000 ราย และอาจมีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงถึง 140 ราย

          "วันไข้เลือดออกอาเซียน" (ASEAN Dengue Day) ได้เริ่มดำเนินการนับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554  หรือ ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์และบรูไน ที่ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันไข้เลือดออกอาเซียน" (ASEAN Dengue Day) โดยแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพใหญ่ สำหรับประเทศไทยปีนี้ได้จัดงานวันไข้เลือดออกอาเซียนภายใต้คำขวัญ "อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก" (ASEAN Unity for Dengue-Free Community)

          ด้านนายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ปีนี้จากการรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในต่างประเทศเฉพาะในฝั่ง สำนักงานในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกขององค์การอนามัยโลก (WPRO) ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56 พบว่าประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วยมากที่สุดคือ ฟิลิปปินส์  35,234  ราย ตาย 157 ราย รองลงมา คือ เวียดนาม 13,903 ราย ตาย 10 ราย มาเลเซีย 9,329 ราย ตาย 17 ราย ลาว 3,638 ราย ตาย 15 ราย และ กัมพูชา 2,538 ราย ตาย 15 ราย

          สำหรับประเทศไทยข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจสถานการณ์โรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2556  โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงพบผู้ป่วยจำนวน 43,609 ราย ตาย 50 ราย เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่สถานการณ์ไข้เลือดออกที่ตอนนี้กำลังแพร่ระบาดหนัก เห็นได้จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (NEA) ระบุในถ้อยแถลงในวันที่ 11 มิ.ย. ว่าปีนี้มีชาวสิงคโปร์เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้ว 2 รายและพบผู้ป่วยกว่า 9,300 ราย เมื่อเปรียบเทียบอัตราตายจากโรคไข้เลือดออกระหว่างประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย พบว่าถึงแม้สิงคโปร์จะมีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่อัตราตายพบเพียงร้อยละ 2 คน ต่อ 10,000 คนเท่านั้น ส่วนประเทศไทยอัตราตายพบสูงถึงร้อยละ11 คน ต่อ 10,000 คน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ พบว่า ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไข้เลือดออก มาพบแพทย์เมื่อมีอาการหนักมากแล้ว ทำให้การรักษาล่าช้าและไม่ทันเวลา

          จึงขอเน้นย้ำว่าไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ ขอแค่ประชาชนตระหนักในการป้องกันตนเอง โดยยึดหัวใจสำคัญ 2 ข้อ หัวใจข้อที่ 1 คือการกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกด้วยการปฏิบัติตามยุทธการ "5 ป. 1 ข. เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย" ได้แก่ 1. ป. ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ 2. ป.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3. ป.ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่ 4. ป.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5. ป.ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และ 1ข.  คือ ขัดล้างไข่ยุงลาย

          "ส่วนหัวใจข้อที่ 2 คือ หากมีอาการต้องสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอยร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นไข้เลือดออกต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลง กินดื่มไม่ได้ ให้รีบกลับมาหาแพทย์ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที อย่านิ่งนอนใจจนไปพบแพทย์ช้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการหนัก รักษายากและอาจเสียชีวิตได้ และหากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3333" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้าย


 เกาะติด ข่าวอาเซียน 10 ประเทศ ข้อมูลอาเซียน เลาะรั้วอาเซียน คลิกเลย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ kapook.com ดูทั้งหมด

329

views
Credit : kapook.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน