โอท็อป6เมนูอีสานก้าวสู่ตลาดอาเซียน

 

จากข้อมูลในภาพรวมรายได้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในรอบปี 2555 เป็นที่น่าสังเกตว่ามากกว่าร้อยละ 60 มาจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ที่แซงหน้าการทำรายได้ให้กับชาวชุมชนมากกว่าอุตสาหกรรมในประเภทต่างๆ จึงทำให้แผนการกระตุ้นและส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคในการยกระดับของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นฐานการผลิตในด้านของวัตถุดิบ ตามนโยบายของการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น "ครัวไทยสู่ครัวโลก" เป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมอาหารของไทย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและการผลิตอาหารในประเภทต่างๆ ส่งจำหน่ายทั้งภาย ในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

 

นายอฐิคม ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) เปิดเผยว่า การเพิ่มศักย ภาพทางการแข่งขันในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการส่งออกสินค้าอาหารของไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้นโยบายของการผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลกของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา ในระดับส่วนกลางและภูมิภาคมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอาหารในหลายแนวทาง ทั้งด้านของการพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการ การนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาการค้าและร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งไม่ต่ำกว่าปีละ 100 งาน

ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนที่สำนักงานขอนแก่น ได้นำผู้ประกอบการในภาคอีสานไปร่วมแสดงสินค้าและเจรจาการขายนั้นต่อปีไม่น้อยกว่า 10 งาน เรียกได้ว่าไปครบทั้ง 10 ประเทศของกลุ่มอาเซียน เพราะการจัดแสดงสินค้าอาหารไทยในต่างประเทศนั้นถือเป็นการแสวงหาตลาดใหม่และพบปะกับผู้ซื้อโดยตรง เช่นเดียวกันกับการจัดงานแสดงสินค้าประเภทอาหาร ประจำปี 2556 หรือ  THAIFEX -  World  of  food  ASIA 2003 ที่ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา สินค้าของภาคอีสานได้ร่วมในการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้ามากถึง 6 รายการ ซึ่งถือเป็นสินค้าต้นแบบที่สำนักงานฯ ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้สินค้าในท้องถิ่นของภาคอีสานก้าวสู่การเป็นสินค้าในระดับสากล โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อเนื่องไปถึงเอเชีย และการเป็นสินค้าในตลาดการค้าระดับโลกได้ในที่สุด

6 ผลิตภัณฑ์เด่นของภาคอีสานจากกลุ่มฝีมือของท้องถิ่นที่ผ่านการคัดเลือก และได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมงานดังกล่าวในปีนี้ ประกอบด้วย

1.กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวอารมณ์ดี ซึ่งผลิตจากข้าวกล้องเพาะงอกจากเมล็ดข้าวเปลือก จาก อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพที่มีกระบวนการผลิตในชุมชนท้องถิ่นของ ต.หนองไผ่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

2.ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้, น้ำมะเม่า จาก ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งถือเป็นการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ด้วยการนำเอาผลไม้พื้นบ้านของภาคอีสานนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังคงมีการทำเป็นแยมจากผลไม้พื้นบ้านของร้านแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

3.ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องแต๋น และขนมขบเคี้ยวจากข้าวนานาชนิดที่ปลูกในภาคอีสานของบริษัท ภูอ้อม จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.หนองสูงเหนือ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ถือเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่งที่สำนักงานฯ ได้เข้าไปพบปะและพูดคุย จนเกิดการประจุดประกายร่วมกันของการผลักดันให้สินค้าอาหารของชาวอีสานสู่ตลาดการค้าสากลอีกหนึ่งชนิด และที่ขาดไม่ได้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาและได้รับการตอบรับจากตลาดการค้าในประเภทอาหารอย่างมาก ก็คือ

4. กุนเชียง หมูหยอง หมูยอ ซึ่งปีนี้ร้านที่ผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานฯ ยังคงเป็นที่ จ.ขอนแก่น คือร้านบ้านไผ่ลิ้มซินเฮียง ต.แคนเหนือ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่นำอาหารอีสานขึ้นชื่อนานาชนิดมาจัดแสดงและจำหน่ายท่ามกลางความสนใจจากตลาดการค้าในระดับอาเซียนอย่างมาก รวมไปถึงลูกค้าและผู้จำหน่ายจากประเทศจีนที่ติดใจกุนเชียงไร้มันจนเกิดการเจรจาการค้าระหว่างประเทศกันเกิดขึ้น

นายอฐิคมกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ 2 ประเภทสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมงานดังกล่าว ประกอบด้วย

5. "ช็อคไรซ" จากบริษัท โคราชฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่ ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นผลิตภัณฑ์ท็อปปิ้ง โรยหน้าไอศกรีม เค้ก และขนมนานาชนิด ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตและจำหน่ายในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งจำหน่ายไปทั่วทั้งประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน

6.สุดท้ายคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากปลา ด้วยผลิตภัณฑ์ไส้กรอกปลารมควัน ของ หจก.กาฬสินธุ์ผลิตภัณฑ์อาหาร อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ด้วยการชูจุดเด่นของไส้กรอกปลาที่ผลิตจากเนื้อปลาล้วนๆ ไม่ปนแป้ง ให้โปรตีนสูง ไขมันต่ำ ปลอดจากสารพิษและบอแร็กซ์ ผ่านกระบวนการทำด้วยการรมควันชานอ้อย ทำให้มีกลิ่นหอมน้ำตาลเคี่ยวไหม้ ปรุงรสด้วยเครื่องเทศแบบไทยๆ จึงทำให้รสชาตินั้นถูกปากอย่างมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อาหารไส้กรอก

ผลิตภัณฑ์อาหารทั้ง 6 ชนิดที่กล่าวถึงนั้น จัดเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์อีสานที่ได้เข้าร่วมงานจนนำไปสู่การเจรจาการค้าและการลงทุนได้ในที่สุด

อีกทั้งจากข้อมูลในภาพรวมของไตรมาสแรกของปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 4,400 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวมากถึงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่มีการเติบโตสูงสุดคือ ผักผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูปที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 รองลงมาเป็นกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม่รวมกุ้ง ในขณะที่ภาคอีสานถือเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหลายอย่างทั้งในด้านของแรงงาน วัตถุดิบ ทำเลที่ตั้ง และการคมนาคมที่สะดวกสบายตามเส้นทางการขนส่งที่ครอบคลุมในกลุ่มประเทศอาเซียน.

ที่มา :หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  

 

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

741

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน