นานาชาติห่วง หวังไทยเลี่ยงรุนแรง
ASTVผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลหลายชาติแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทย หลังกองทัพไทยได้ประกาศกฏอัยการศึก "สหรัฐฯ"ชี้ว่าควรใช้เพียง “ชั่วคราว” และจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการบั่นทอนประชาธิปไตย รมว.ต่างประเทศอินโดฯระบุหวังสถานการณ์คลี่คลาย ชี้ไทยเป็นเสาหลักสำคัญอย่างยิ่งของอาเซียน ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ใช้ความอดทน หลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบ เอเอฟพีบอก “ผู้สังเกตการณ์” ยังเถียงกัน ใช้กฏอัยการศึกครั้งนี้คือ “รัฐประหาร” ใช่ไหม ซีเอ็นเอ็น อ้างคนใกล้ชิด “นิวัฒน์ธำรง” ชี้ รัฐบาลไทยไม่รู้ล่วงหน้า
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ได้ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรของกองทัพไทยเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) ทำให้หลายประเทศ รวมถึงสื่อต่างประเทศต่างติดตามสถานการณ์และรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงว่า รัฐบาลสหรัฐฯมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในประเทศไทย และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “เคารพหลักการประชาธิปไตย ซึ่งรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”
“เราเข้าใจว่า กองทัพไทยประกาศใช้กฎอัยการศึกในครั้งนี้ ยังไม่ใช่การรัฐประหาร ซึ่งสหรัฐฯก็ขอให้กองทัพรักษาคำพูดว่าจะใช้กฎอัยการศึกเพียงชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงเท่านั้น และจะต้องไม่บั่นทอนสถาบันทางประชาธิปไตย” ซากี ระบุ
“สหรัฐฯเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อแก้ไขความต่างผ่านการเจรจา และหาหนทางก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้แสดงเจตนารมณ์ของพวกเขา”
ทางด้านของอินโดนีเซีย ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ก็แสดงความเป็นห่วงไทยเช่นกัน โดยมาร์ตี นาตาเลกาวา รมว.กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ออกคำแถลงล่าสุดในวันอังคาร (20) แสดง “ความกังวลอย่างยิ่งยวด” ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ชาติเพื่อนบ้านร่วมสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยคำแถลงระบุว่า ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายเคารพและปฏิบัติตาม “รัฐธรรมนูญ” ที่ถือเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งนั้นจะนำมาซึ่งความสมานฉันท์ในไทย และถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดของไทยในเวลานี้ โดยทางอินโดนีเซียหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์ตึงเครียดในไทยจะสามารถคลี่คลายได้โดยเร็ว เนื่องจากไทยถือเป็น “เสาหลัก” ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อ “อาเซียน”
ด้านโยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เปิดแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว โดยระบุว่า “รัฐบาลรู้สึกกังวลอย่างยิ่ง และเราขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนอดกลั้น และหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบ”
และย้อนไปนั้น ด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้กระแสการเมืองไทยกลับมาตึงเครียดหนักอีกครั้ง โดยกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเตือนว่าอาจเกิด “สงครามกลางเมือง” หากอำนาจปกครองถูกหยิบยื่นให้แก่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามที่ฝ่ายค้านเรียกร้อง
กองทัพไทยซึ่งมีประวัติทำรัฐประหารมาแล้วถึง 12 ครั้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ยืนยันว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ไม่ใช่การ “ยึดอำนาจ” และไม่ใช่ “รัฐประหาร” พร้อมขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
***สื่อนอกตีข่าวไทยประกาศกฎอัยการศึก
สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสระบุในวานนี้ (20 พ.ค.) ผู้สังเกตการณ์ยังคงถกเถียงกันว่า การที่กองทัพไทยประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ และส่งกำลังเข้ารักษาการณ์ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ เป็นการกระทำ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจใช้หรือไม่
ในรายงานภูมิหลังของข่าว ซึ่งนำเสนอในรูปแบบคำถาม-คำตอบ สำนักข่าวเอเอฟพีตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นการรัฐประหารใช่หรือไม่ เพราะชวนให้ระลึกย้อนไปถึงการยึดอำนาจของฝ่ายทหารขับไล่รัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2006
เอเอฟพีให้คำตอบโดยอ้างองค์การฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ซึ่งประทับตราว่าการประกาศใช้กฏอัยการศึกเช่นนี้ เป็น “การทำรัฐประหารในความเป็นจริง” อีกทั้งยังแสดงความวิตกถึงการเซนเซอร์สื่อว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
****AFPบอก'ผู้สังเกตการณ์'มองเป็นรัฐประหารหรือไม่
เอเอฟพีได้เสนอความคิดเห็นของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักวิชาการ “เสื้อแดง” ที่สำนักข่าวฝรั่งเศสแห่งนี้ถ่ายทอดทัศนะของเขาอยู่เป็นประจำ โดยที่ ปวิน บอกว่า “ผมคิดว่าเรากำลังได้เห็น การโหมโรงก่อนการรัฐประหาร นี่เป็นเรื่องชัดเจนมาก” และ “ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นส่วนของแผนอุบายที่จะสร้างให้เป็นสถานการณ์แห่งการไม่สามารถปกครองได้ เพื่อให้เป็นเหตุผลชอบธรรมรองรับความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของกองทัพบก”
พร้อมกันนั้น เอเอฟพีได้เสนอทัศนะในอีกด้านหนึ่ง นั่นคือความเห็นของ กาแวน บัตเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่กล่าวว่า เขาเชื่อว่าการปฏิบัติการของกองทัพบกคราวนี้ เป็นเพียงประสงค์ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย “พวกเขา (กองทัพ) แสดงความรังเกียจเรื่อยมา ที่จะใช้จุดยืนอันมีลักษณะเป็นการก่อรัฐประหารมากกว่านี้อีก ซึ่งนับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว และตอนนี้พวกเขาก็ยังคงดูเหมือนระมัดระวังสงบปากสงบคำมาก ผมจึงสงสัยว่าพวกเขาต้องการจะผลักดันให้ไปไกลกว่านี้หรือ” บัตเลอร์บอก พร้อมกับเสริมว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังคง “คลุมเครือและยุ่งเหยิง”
ทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้ทางหนึ่งก็คือ มีการแต่งตั้งบุคคลผู้ไม่ได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งทางเลือกนี้เป็นสิ่งที่พวกผู้ประท้วงที่มาจากฝ่ายค้านกำลังเรียกร้องอยู่ โดยให้บุคคลผู้นี้บริหารประเทืศไปจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต
เอเอฟพีสรุปว่า จวบจนถึงขณะนี้ ปฏิกิริยาของพวกคนเสื้อแดงต่อการประกาศกฏอัยการศึกษายังคงอยู่ในลักษณะนิ่งเงียบ และพวกเขายังไม่ได้ประทับตราว่า มันเป็นความพยายามทำรัฐประหาร
***CNNอ้างคนในรัฐบาบไม่รู้ล่วงหน้า
ซีเอ็นเอ็นรายงานในวันอังคาร (20) โดยอ้างแหล่งข่าวที่เป็น “ผู้ช่วยรายหนึ่ง” ของนายนิวัฒน์ธำรง ว่า รัฐบาลไทยไม่ทราบมาก่อนว่าทางผู้บัญชาการกองทัพบกจะประกาศใช้กฏอัยการศึก โดยผู้ช่วยซึ่งไม่มีการเปิดเผยชื่อรายนี้ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการที่รัฐบาลถูกกองทัพ “ทำรัฐประหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง”
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจของกองทัพโดยลำพังเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น”
อย่างไรก็ดี “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น โดยยืนกรานว่า ความเคลื่อนไหวของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกไม่ถือเป็นการทำรัฐประหารแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงความพยายามของกองทัพในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนเท่านั้น
ซีเอ็นเอ็นยังรายงานโดยอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มองว่า สถานการณ์ทางการเมืองในไทยเวลานี้ อยู่ในภาวะแห่งความ “เปราะบาง”อย่างยิ่งยวด และสิ่งที่ต้องระวังคือหากกองทัพตัดสินใจแสดงบทบาทของตนโดย “เลือกข้าง” อิงเข้ากับคู่ขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อนั้นสถานการณ์ความรุนแรงในไทยก็จะยิ่งทวีความร้อนแรงขึ้น แทนที่จะสงบลง.