ชาวเวียดนามชุมนุมประท้วงต่อต้านจีน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Vietnamese stage anti-China protests
By Radio Free Asia
12/05/2014
ประชาชนชาวเวียดนามจำนวนรวมหลายพันคน พากันออกมาสู่ท้องถนนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงการประท้วงคัดค้านการที่ปักกิ่งเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้ามาติดตั้งยังน่านน้ำในทะเลจีนใต้ซึ่งสองประเทศกำลังช่วงชิงกันอยู่ ถือเป็นการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านจีนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่บังเกิดขึ้นในประเทศนี้ ขณะเดียวกันนั้น ที่ประชุมระดับผู้นำของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็ส่งเสียงแสดง “ความวิตกกังวลอย่างจริงจัง” ต่อการเผชิญหน้าในเรื่องดินแดนกันอย่างตึงเครียดในคราวนี้
ผู้คนประมาณ 1,000 คนชุมนุมเดินขบวนในวันอาทิตย์ (11 พ.ค.) ที่ผ่านมา ในนครโฮจิมินห์ เพื่อแสดงการประท้วงที่บริเวณด้านนอกของสถานกงสุลประจำเมืองหลวงทางการพาณิชย์ของเวียดนามแห่งนี้ ในเวลาเดียวกัน ก็มีผู้คนจำนวนหลายร้อยคนไปชุมนุมกันที่ด้านหน้าของสถานเอกอัครราชทูตจีนในนครหลวงฮานอย เพื่อเรียกร้องให้ปักกิ่งถอนแท่นขุดเจาะน้ำมันขนาดยักษ์ซึ่งฝ่ายนี้เคลื่อนย้ายมาติดตั้งยังจุดใกล้ๆ หมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) อันสองประเทศพิพาทกันอยู่ นอกจากนั้นยังมีการประท้วงทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในเมืองด่าหนัง และเมืองเว้ เพื่อต่อต้านการที่จีนติดตั้งแท่นขุดเจาะในวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากนั้นก็เป็นเหตุให้เรือตรวจการณ์ของประเทศทั้งสองเผชิญหน้ากันในพื้นที่พิพาทดังกล่าว ส่งผลให้มีการชนกระแทกกันหลายครั้ง และความตึงเครียดก็ยกระดับสูงขึ้น
ปรากฏว่าสื่อมวลชนของภาครัฐได้รายงานข่าวการประท้วงต่อต้านจีนอันเอะอะตึงตังนี้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความโกรธกริ้วที่ฮานอยมีต่อความเคลื่อนไหวของปักกิ่ง ขณะเดียวกันน่าสังเกตด้วยว่าตำรวจไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อขัดขวางทำลายการประท้วงเหล่านี้
พวกเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำการรังควาญ, ทุบตี, หรือจับกุมคุมขังผู้สื่อข่าวซึ่งกำลังทำข่าวเหตุการณ์นี้อีกด้วย แตกต่างไปจากการชุมนุมทำนองนี้ในครั้งก่อนๆ
ปกติแล้ว เหล่าผู้นำเผด็จอำนาจของเวียดนามมักควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะอย่างเข้มงวดมากเป็นพิเศษ ด้วยความหวาดกลัวว่ามันจะบานปลายกลายเป็นการประท้วงต่อต้านคณะผู้นำคอมมิวนิสต์
แต่ในครั้งนี้ หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) ของรัฐ กลับรายงานว่ามีชาวเวียดนาม “หลายหมื่นคน” เข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านจีน โดยมีทั้ง “คนสูงอายุ, ทหารผ่านศึก, นักเรียนนักศึกษา, พนักงานออฟฟิศ, และกระทั่งเด็กๆ” และพวกเขาต่างร้องเพลงชาติและเพลงปฏิวัติต่างๆ
**อำนาจอธิปไตยเป็นของศักดิ์สิทธิ์**
เตื่อยแจ๋ ยังรายงานข้อความในผืนธงและแผ่นป้ายบางข้อความซึ่งพวกผู้ประท้วงถือมาในการชุมนุมเดินขบวนคราวนี้ เป็นต้นว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ละเมิดมิได้”, “จีนต้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ”, “จีนต้องถอนแท่นขุดเจาะออกจากน่านน้ำของเวียดนามทันที”, “หนุ่มสาวชาวเวียดนามพร้อมสละชีวิตเพื่อปกป้องประเทศชาติ”, “ยืนหยัดสนับสนุนรัฐในการพิทักษ์อธิปไตยของชาติ”, และ “ห่วงซา (พาราเซล) กับ เจื่องซา (สแปรตลีย์) เป็นเลือดเนื้อของเวียดนาม”
“นี่เป็นการเดินขบวนต่อต้านจีนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในฮานอย” ดาง กวาง ทาง (Dang Quang Thang) ทหารผ่านศึกวัย 74 ปีบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี
“ความอดทนของเรามีจำกัด เรามาที่นี่เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวเวียดนามที่พร้อมจะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพิทักษ์ปกป้องดินแดนของเรา เราพร้อมที่จะตายเพื่อพิทักษ์ปกป้องชาติของเรา” เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ (10 พ.ค.) ก็มีการประท้วงต่อต้านจีนในหลายๆ พื้นที่แล้ว เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเมื่อวันอาทิตย์
การชุมนุมเดินขบวนระลอกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 เมื่อตอนที่เกิดเหตุเรือจีนลำหนึ่งเข้าตัดสายเคเบิลวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวซึ่งเรือสำรวจน้ำมันใต้ทะเลลำหนึ่งของเวียดนามกำลังจัดวาง ตอนแรกๆ ฮานอยก็หนุนหลังการประท้วงในคราวนั้น แต่ต่อมากลับขับไล่ผู้ชุมนุมเดินขบวนจนแตกกระเจิงไป เมื่อสถานการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่า การประท้วงกำลังกลายเป็นเวทีสำหรับแสดงความไม่พอใจรัฐบาลเวียดนาม
**จีนส่งเครื่องบินขับไล่เข้าคุ้มกันแท่นขุดเจาะ**
ในวันอาทิตย์ (11 พ.ค.) พ.อ.โง หง็อค ถู (Ngo Ngoc Thu) เสนาธิการของหน่วยยามฝั่งเวียดนาม ยังบอกกับหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ ว่า จีนได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่ไอพ่นจำนวนหนึ่ง มาเข้าร่วมกับกองเรือซึ่งปฏิบัติภารกิจคุ้มกันแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าว โดยที่เตื่อยแจ๋ระบุด้วยว่า ในบรรดาเรือจีนที่คอยขัดขวางไม่ให้เรือของหน่วยยามฝั่งเวียดนามเข้าไปในจุดที่แท่นขุดเจาะตั้งอยู่นั้น เป็นเรือของกองทัพเรือจีน 3 ลำ
ในสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยยามฝั่งเวียดนามยังได้เผยแพร่วิดีโอซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเรือจีนกำลังชนกระแทกและใช้เครื่องฉีดน้ำกำลังแรงยิงใส่เรือเวียดนาม
“ในวันเสาร์ และช่วงเช้าวันอาทิตย์ หน่วยยามฝั่งเวียดนามได้พบเครื่องบินทหารของจีนจำนวน 2 หมู่ บินอยู่เหนือเรือของฝ่ายเวียดนาม ที่กำลังพยายามป้องกันไม่ให้แท่นขุดเจาะน้ำมันทำการขุดเจาะอย่างผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำของเวียดนาม โดยที่เครื่องบินจีนเหล่านี้บินอยู่ในระดับความสูง 800 ถึง 1,000 เมตร” ถู แถลง
**การล่วงละเมิดดินแดนอย่างร้ายแรง**
ในวันอาทิตย์ (11 พ.ค.) เช่นกัน ระหว่างที่กล่าวปราศรัยในการประชุมระดับผู้นำของสมาคมอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่พม่า นายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋น หยูง (Nguyen Tan Dung) ของเวียดนาม บอกว่า ประเทศของเขาได้กระทำการ “ด้วยความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด” ในเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันนี้ และเรียกร้องให้อาเซียนทำการประท้วงจีน ต่อสิ่งที่เขาระบุว่า เป็น “การล่วงละเมิดอย่างร้ายแรง” ในเขตน่านน้ำของเวียดนาม
1 วันก่อนหน้านั้น บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนซึ่งประชุมกันในวันเสาร์ (10 พ.ค.) เพื่อเตรียมการให้แก่การประชุมระดับผู้นำ ได้ออกคำแถลงร่วมฉบับหนึ่ง แสดง “ความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง” ทว่ายังไม่ได้มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงต่อจีน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแถบนี้
เลขาธิการอาเซียน เล เลือง มิญ (Le Luong Minh) ซึ่งเป็นชาวเวียดนาม ได้บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นมานี้ เป็นการเพิ่มความเร่งด่วนให้ต้องรีบสรุปการเจรจาระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งกำลังทำความตกลงกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) ของประเทศต่างๆ ในทะเลจีนใต้ เพื่อที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดในบริเวณนี้ลงมา
แต่เขาก็ชี้ว่า ความพยายามของจีนที่จะบรรลุข้อตกลงในการเจรจานี้ ยังคงไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายอาเซียนมุ่งหวัง เพราะถึงแม้มีการจัดการหารือขึ้นมา 3 รอบนับตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่การเจรจายังคงไม่ได้เน้นไปที่ “พวกประเด็นสาระสำคัญทั้งหลาย” เลย เขาบอก
ปักกิ่งนั้นแสดงท่าทีเรื่อยมาว่า ปรารถนาที่จะทำความตกลงเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทางดินแดนทับซ้อนกัน โดยใช้วิธีการเจรจากันโดยตรงระดับทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศคู่พิพาททีละประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้คือเหล่าเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่าและอ่อนแอกว่าแดนมังกรทั้งสิ้น
นอกเหนือจากเวียดนามและจีนแล้ว ยังมี ฟิลิปปินส์, บรูไน, มาเลเซีย, และไต้หวัน ซึ่งประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกันอยู่
ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ยื่นฟ้องร้องขอให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก ทำหน้าที่วินิจฉัยตัดสินการที่จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้แทบทั้งหมด ได้แถลงในสัปดาห์ที่แล้วว่า ได้จับกุมเรือประมงจีนลำหนึ่งพร้อมลูกเรือเอาไว้ในบริเวณน่านน้ำที่สองประเทศพิพาทกัน
ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน (Benigno Aquino) ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนในพม่าด้วย ได้เรียกร้องเมื่อวันเสาร์ (10 พ.ค.) ขอให้เหล่าผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับการคุกคาม ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่จีนแสดงความแข็งกร้าวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทะเลจีนใต้ โดยที่เขาเน้นย้ำว่า ความแข็งกร้าวเช่นนี้ของจีนกำลังสร้างความกระทบกระเทือนให้แก่ “ความมั่นคง” ของภูมิภาค
(หมายเหตุผู้แปล - กระแสประท้วงต่อต้านจีนในเวียดนามได้บานปลายออกไปอีก จนกลายเป็นเหตุการณ์คนงานชาวเวียดนามเผาโรงงานต่างๆ ในวันอังคารที่ 14 พ.ค. ดูรายละเอียดที่ http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9570000053434)
ข่าวนี้รายงานโดย วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเวียดนาม (RFA’s Vietnamese Service) และภาคภาษาพม่า (Myanmar Service) และเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย ปรเมศวรัน ปอนนูดูไร (Parameswaran Ponnudurai)
วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต