ปชป.อัดพงศ์เทพบิดเบือน ดึงต่างชาติแทรกแซงไทย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์ในประเทศว่า อยู่ที่นักการเมือง และพรรคการเมือง จะเอาประชาธิปไตยบังหน้า รักษาอำนาจตัวเอง หรือจะพยายามให้บ้านเมืองกลับไปเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยที่ราบรื่นได้ โดยเสียสละเพียงชั่วคราว วันนี้ถ้ารัฐมนตรีที่เหลืออยู่นี้ลาออกทั้งหมด ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมาตกลงกันว่า ในสถานการณ์อย่างนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ จะเดินอย่างไร ไม่จำเป็นต้องเอาตามแผนที่ตนเสนอก็ได้ แต่หลักใหญ่ๆคือว่า มีคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับเข้ามา เพื่อเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูป ทำกระบวนการปฏิรูปให้มั่นคง แล้วก็ไปเลือกตั้ง ตอนนี้สถานการณ์ไม่ปกติ แต่เราก็พยายามทำเงื่อนไขให้มันเปิดทาง แล้วก็ตีความกฎหมายในทางที่ให้ปฏิบัติได้ และที่สำคัญคือ ถ้าเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย มันไม่มีอะไรขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ และเราก็จะได้หยุดภาวะที่มาโต้เถียงกันแบบนี้
"อยากให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ขณะนี้มันไปไม่ได้ ควรมาดูว่า อะไรที่เป็นไปได้ และถ้าคิดได้ ก่อนลาออกจากรัฐมนตรี ก็ควรไปคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. เพื่อให้แน่ใจว่า อะไรจะเกิดขึ้นตามมา และจะยอมรับกันได้หรือไม่ วันนี้ต้องมีสัญญาณมาจากนายนิวัฒน์ธำรงก่อน แต่ถ้ายังฟังนักกฎหมายฝ่ายรัฐบาล ก็จะมีปัญหาไปเรื่อยๆ เพราะเป็นกลุ่มที่ให้ความเห็น ผิดมาเกือบตลอด จนนายจะต้องเข้าคุกอีกคนหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
** อัด"พงศ์เทพ"ดึงต่างชาติแทรกแซงไทย
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุต้องเลือกตั้งก่อนปฏิรูปว่า เป็นละครฉากเดิม แสดงถึงความไม่เข้าใจในการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปต้องมีความจริงใจ และต้องทำก่อนการเลือกตั้ง เพราะหากทำหลังการเลือกตั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยมีอำนาจแล้วจะปฏิรูปอย่างที่พูดหรือไม่ ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยอ้างถึงทฤษฎีคมคบคิดนั้น ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยสมคิดกับองค์กรอิสระ หรือกลุ่มมวลชนใดๆ แต่พรรคพิสูจน์ความถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น ซึ่งทฤษฎีสมคบคิดมีเพียง พรรคเพื่อไทย รัฐบาล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่สมคบคิดกันออกกฎหมายนิรโทษกรรม
นายชวนนท์ ยังกล่าวถึงแถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียน เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย ที่เรียกร้องให้มีการเจรจาหารือร่วมกัน ว่า แถลงการณ์ดังกล่าว ออกโดยระดับรมว.ต่างประเทศของอาเซียน ซึ่งทราบว่ามีความพยายามในการผลักดันให้ออกในนามของผู้นำประเทศอาเซียน แต่ถูกคัดค้านจากผู้นำว่า ไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมประชุม ควรจะระมัดระวังในเนื้อหาสาระของแถลงการณ์ ไม่ให้มีข้อความที่ละเมิดอธิปไตย และเปิดประตูให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงกระบวนการอธิปไตยในประเทศ เพราะในเนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่า ให้มีการเจรจาหารือร่วมกัน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้มีการเจรจา ทั้งที่ฝ่ายค้าน และมวลชนพร้อมที่จะพูดคุย แต่รัฐบาลกลับปฏิเสธ ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งต้องยอมรับว่า ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จึงขอให้นายพงศ์เทพ กล้าพูดความจริงกับต่างชาติ อย่าพูดเพื่อให้ประเทศดูดีเท่านั้น
**ปชป.แถลง 7 ข้อตอกกลับ พท.
นายชวนนท์ ยังได้อ่านแถลงการณ์ ตอบโต้พรรคเพื่อไทย 7 ข้อ โดยระบุว่า
1. ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม และคำตัดสินของศาล จากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หนีคดีอาญาแผ่นดินจนมาถึงการปฏิเสธรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
2. ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มิได้มีกระบวนการสมคบคิดเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกกฎหมายและมุ่งทำลาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การที่ประชาชนจับได้ไล่ทันรัฐบาลที่ฉ้อฉล ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อล้างผิดให้กับคนโกง อีกทั้งองค์กรอิสระได้ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญจากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ มิใช่เรื่องการสมคบคิดอย่างที่พรรคเพื่อไทยมีจินตนาการอย่างเลื่อนลอย
3. ศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิได้มีการเร่งรีบการดำเนินคดีกับใครเป็นพิเศษ แต่ที่พรรคเพื่อไทยออกมาโจมตี เป็นเพราะไม่สามารถต่อสู้ด้วยพยานหลักฐาน จึงพยายามสร้างจินตนาการเพื่อความเข้าใจผิด
4. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในทุกมิติ เพราะกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้นเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น และเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมส่งผลให้คณะรัฐมนตรีชุดที่มีการลงมติเรื่องดังกล่าวต้องพ้นสภาพไปเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อกฎหมายง่ายๆ ที่พรรคเพื่อไทยแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ
5. พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และหลักการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันนักการเมืองจะต้องเป็นผู้เสียสละในการหาทางออกให้กับประเทศ
6. ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาจัดการเลือกตั้งโดยคำนึงถึงความพร้อมของสถานการณ์ และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งจะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หากการเลือกตั้งเป็นไปเพียงเพื่อพิธีกรรม เพื่อให้พรรคเพื่อไทยกลับเข้าสู่อำนาจ ก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ไร้ความหมาย และจะเป็นการสูญสิ้นงบประมาณไปโดยสิ้นเปลือง
7. ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย ดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ และอย่าปล่อยให้พวกนอกกฎหมายที่ใช้อาวุธสงครามซุ่มโจมตีประชาชน และควรขยายผลการเสียชีวิตของประชาชนว่ามีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้หรือไม่ ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่พวกที่ปากเป็นประชาธิปไตย แต่ใจเป็นเผด็จการ และเป็นเพียงนักเลือกตั้งเพื่อทำธุรกิจการเมือง มิใช่นักการเมืองที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติแต่อย่างใด
** อัด"เต้น-จารุพงศ์"ขึ้นเวทีแดง
นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฎ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ ปรามลูกพรรคไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.ว่า อยากเตือนนายพร้อมพงศ์ ว่า อย่าข้ามรุ่น และไม่ต้องเตือนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะสมาชิกพรรคเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญทุกเรื่อง ซึ่งนายพร้อมพงศ์ คงอิจฉาและตกใจที่มีผู้ชุมนุมออกมาขับไล่รัฐบาลจำนวนมาก ดังนั้นนายพร้อมพงศ์อย่าแกล้งโง่ และควรกลับไปดูคนในพรรคของตนเอง โดยเฉพาะนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ขึ้นเวทีเสื้อแดง และควรลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้แล้ว จะได้เป็นไปตามที่นายพร้อมพงศ์ กล่าวอ้างว่า การชุมนุมไม่ควรสังกัดพรรคการเมืองใดๆ และหากนายพร้อมพงศ์มีเวลาว่างมาก ก็ควรไปทำหน้าที่ทวงเงินให้กับคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมแล้วไม่ได้เงิน หรือที่โดนเก็บค่าหัวคิวดีกว่า