'ทะเลจีนใต้' ครอบงำซัมมิตอาเซียน “ฮานอย-มะนิลา” หาแนวร่วมต้านปักกิ่ง
การประชุมระดับผู้นำของสมาคมอาเซียน จัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์ของพม่าในวันอาทิตย์ ไม่กี่วันหลังจาก 2 รัฐสมาชิกของสมาคม คือ เวียดนามและฟิลิปปินส์ ได้เกิดการเผชิญหน้ากับจีน จากการขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คำแถลงร่วมของที่ประชุมซัมมิตคราวนี้ มีอันต้องออกล่าช้าไปมากแม้การหารือจะเสร็จสิ้นไปแล้วหลายชั่วโมง โดยที่แหล่งข่าวหลายรายระบุว่า เนื่องจากการจัดพิมพ์คำแถลงมีคำผิด ทำให้ต้องนำเอกสารฉบับนี้มาขอคำยืนยันจากบรรดารัฐสมาชิกอีกรอบหนึ่ง ขณะที่สำนักข่าวเอพีบอกว่า จากร่างคำแถลงปิดประชุมสุดยอดที่ตนได้รับมา ปรากฏว่าไม่มีการเอ่ยถึงจีนอย่างตรงๆ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยคำแถลงปิดประชุมซึ่งออกมาในที่สุด มีข้อความแสดงความวิตกกังวล และเรียกร้องทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพิพาททางทะเลคราวนี้แสดงความอดทนอดกลั้น ทว่าไม่มีการอ้างถึงจีนแต่ประการใด ท่าทีของบรรดาผู้นำอาเซียนคราวนี้ สอดคล้องกับเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งได้ออกคำแถลงภายหลังการประชุมของพวกเขาในวันเสาร์ (10) โดยมีข้อความแสดง "ความกังวลอย่างจริงจังยิ่งยวดเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่” แต่ไม่ได้ระบุชื่อประเทศจีนตรงๆ เช่นกัน กระนั้น ผู้นำของทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็ได้ขึ้นพูดในที่ประชุมคราวนี้ โดยเรียกร้องให้เพื่อนสมาชิกสนับสนุนการรับมือกับแดนมังกร ในร่างคำปราศรัยต่อที่ประชุมซัมมิตที่เอพีได้รับมา นายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋น ยุ๋ง ของเวียดนาม ระบุว่า “จีนได้เคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันของตนเข้ามาในน่านน้ำของเวียดนามอย่างไร้ยางอาย โดยใช้เรือติดอาวุธและเรือทหารกว่า 80 ลำตลอดจนเครื่องบินจำนวนมากคุ้มกัน” โดยที่เรือเหล่านี้ “ได้ยิงเครื่องฉีดน้ำกำลังแรง ตลอดจนเข้าชนกระแทกบรรดาเรือบริการสาธารณะและเรือพลเรือนของเวียดนาม ทำให้เรือจำนวนมากได้รับความเสียหายและผู้คนในเรือจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ” เขายังเรียกร้องให้บรรจุความวิตกกังวลเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ เข้าไปในคำแถลงปิดการประชุมคราวนี้ด้วย ทั้งนี้ การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับเวียดนามคราวนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่บริเวณใกล้ๆ หมู่เกาะพาราเซล ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์ ในส่วนของ ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ ได้กล่าวก่อนเข้าประชุมซัมมิตว่า เขาตั้งใจหยิบยกประเด็นข้อพิพาททางดินแดนที่ประเทศของเขาเองมีอยู่กับปักกิ่ง ขึ้นมาพูดในที่ประชุม พร้อมกับเรียกร้องขอความสนับสนุนให้แก้ไขความขัดแย้งนี้โดยผ่านการตัดสินวินิจฉัยขององค์กรตุลาการระหว่างประเทศ ทั้งนี้ฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องจีนในเรื่องข้อพิพาทด้านเขตแดนในทะเลจีนใต้นี้ ต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก ขณะที่ปักกิ่งบอกว่าไม่ยอมเข้ากระบวนการเช่นนี้ นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มะนิลายังได้จับกุมเรือประมงจีนพร้อมลูกเรือ 11 คน ในข้อหาลักลอบจับเต่าทะเลชนิดที่เป็นสัตว์สงวนในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ แต่ทางจีนตอบโต้ว่าน่านน้ำที่เกิดเหตุเป็นดินแดนของตน พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยเรือและลูกเรือชาวจีน |
||||
จีนนั้นยืนยันเรื่อยมาว่า ต้องการแก้ไขข้อพิพาทากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กและอ่อนแอกว่าของตน ด้วยการเจรจาแบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นแนวทางที่พวกประเทศคู่กรณีคัดค้าน เพราะเห็นว่าพวกตนเสียเปรียบแน่นอน โดยเฉพาะประธานาธิบดีอากีโน ของฟิลิปปินส์ ได้ประกาศเมื่อวันเสาร์ว่า การเจรจาทวิภาคีไม่เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาที่ส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ ทว่า วันเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศจีนออกคำแถลงตอบโต้ว่า ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ไม่ใช่ปัญหาระหว่างจีนกับอาเซียน “ปักกิ่งคัดค้านความพยายามของบางประเทศในการใช้ประเด็นนี้บ่อนทำลายสัมพันธภาพและความร่วมมือโดยองค์รวมระหว่างจีนและอาเซียน “จีนพร้อมร่วมมือกับอาเซียนเพื่อสานต่อการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีที่มีกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ที่ตกลงกันในปี 2002 เพื่อจัดการความขัดแย้งทางทะเล “และจีนหวังว่า สมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้องจะเคารพและดำเนินการตามปฏิญญาดังกล่าวอย่างจริงใจ รวมทั้งร่วมสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพ ตลอดจนความมั่นคงทางทะเลในทะเลจีนใต้” คำแถลงของจีนระบุ |
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด
305
views
Credit : manager.co.th
News