ศุภชัย นิลดำ เด็กไทย ใส่ใจเออีซี
หลายคนคงทราบกันดีว่า ระยะเวลาได้ใกล้เข้าแล้ว สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่เรียกกันว่าการก้าวเข้าสู่ AEC ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งหลายภาคส่วน เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ แรงงาน การท่องเที่ยว ก็มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดประตูอาเซียน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนไทยมีความพร้อมแค่ไหนสำหรับเรื่องนี้ ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน เขาเหล่านี้มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอย่างไร แน่นอนว่าบุคคลใดที่มีความรู้เรื่องราวของอาเซียนมากกว่าย่อมเป็นผลดีต่อการปรับตัวในการก้าวเข้าสู่อาเซียนได้เร็วขึ้น ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายศุภชัย นิลดำ หรือ เส็ง หนุ่มนักศึกษาวัย21 ปี จากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากรายการแข็งขันตอบคำถามเกี่ยวกับอาเซียน นอกจากนั้นยังได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ยังต่างประเทศและคว้ารางวัลมาได้ถึง 2 รางวัล ผู้เขียนเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ยังเป็นเยาวชนอายุน้อยแต่กลับมีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนค่อนข้างมาก และยังอยู่ในวัยที่ถือว่ายังน้อยอยู่จึงได้หยิบยกทัศนะคติของ ศุภชัยมานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เยาวชนในการก้าวเข้าสู่อาเซียน ศุภชัย เล่าถึงความชอบและแรงบันดาลใจของการศึกษาเรื่องราวของอาเซียนว่า ตนเกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ห่างไกลมากนักจากประเทศกัมพูชา จนทำให้พูดภาษาเขมรได้ซึ่งเห็นว่าสังคม วัฒนธรรม และความเป็นพี่น้องเพื่อนบ้านไม่เคยแบ่งแยกกันเลย จึงมีแรงบัลดาลใจที่จะศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพราะยิ่งเรารู้จักกันมากขึ้นเท่าไหร่เราจะอยู่กับเขาอย่างมีความสุขเท่านั้น “ส่วนจุดเริ่มต้นของการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียน เมื่อ 10 ปีที่แล้วผมเริ่มต้นอ่านหนังสือเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปที่วางขายในท้องตลาดเล่มละ 49 บาท ในเนื้อหาส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยข้อมูลที่สุดของโลก มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตะลึงในหลายๆ เรื่องของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นผมได้เรียนวิชาภูมิศาสตร์ครั้งแรกตอนเข้าเรียนม.1 เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดความชอบจนต้องอ่านและหาข้อมูลเพิ่มเติมมาโดยตลอด จนปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่สามก็คิดว่าได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนมามากพอสมควร” สำหรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะมีการเคลื่อนย้ายของกำลังแรงงาน ในหลายๆ อาชีพ และความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ศุภชัยให้ความเห็นว่า ส่วนตัวคิดว่าเมื่อเปิดแล้วน่าจะมีโอกาสหางานที่หลายหลายมากขึ้น แม้อาจจะมีการแข่งขันกันบ้างซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะเราเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและอีกมากมาย ซึ่งหลายๆ ประเทศต่างมุ่งสู่ประเทศไทย “เคยมีโอกาสสอถามเพื่อนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านว่าอนาคตจะทำงานที่ไหนทุกคนตอบคล้ายๆกันว่า จะต้องได้ทำงานในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันคนไทยเองก็ยังหางานยากและแข่งขันกันอยู่แล้ว หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาก็คงจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นไปอีก และอีกเรื่องคือคนไทยยังด้อยเรื่องภาษาที่ยังสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ รวมถึงความเสถียรภาพทางการเมืองที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศต้นๆ ในอาเซียน คนไทยได้เปรียบในเรื่องของฝีมือแรงงาน เรื่องของการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรหลายรายการรายใหญ่ของโลก ที่ตั้งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมด้านต่างๆ มีสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วถึงมีระบบธนาคารค่อนข้างเข้มแข็ง และ แรงงานจำนวนมาก ซึ่งบางประเทศมีแรงงานระดับล่างค่อนข้างน้อยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และโดดเด่น รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามที่สามารถร้างรายได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องดูอีกครั้งว่าเมื่อเปิดอาเซียนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น” ศุภชัย เล่าต่อว่า เรื่องราวต่างๆที่พูดมาข้างตนมองว่าอาจเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไปสำหรับเด็กรุ่นใหม่อย่างพวก แต่ประเด็นสำคัญที่วัยรุ่น เด็กรุ่นใหม่ควรที่จะรู้ไว้บ้างอย่างน้อยให้รู้ว่าอาเซียนคืออะไร มีแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ควรเตรียมรับมืออย่างไรเป็นต้น เพราะเชื่อว่ามีผลกับเราอย่างแน่นอน ถามถึงความพร้อมของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของตนเอง ศุภชัย ตอบอย่างมั่นใจว่า ตนเองคิดว่าพร้อมแต่ก็คงต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะการที่เราเปิดรับอะไรใหม่ๆ เป็นไปได้ยากที่จะไม่มีปัญหาแต่เมื่อเจอปัญหาแล้วค่อยๆคิด ค่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ คิดว่าก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากเพราะยังไงก็ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ อยู่แล้วซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เชื่อว่าคงไม่มีใครปล่อยให้ประเทศเกิดผลกระทบไปในทางที่ไม่ดี และเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอต่อการช่วยกันพัฒนาประเทศและแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ “เป็นไปได้ในความคิดของผมเองสิ่งที่ควรปรับก่อนการเข้าสู่อาเซียนคือปรับตั้งแต่จุดเริ่มต้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด หยุดดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะวัฒนธรรมของเราและเขามันต่างกันแล้วหันมาเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศตนเองและความแตกต่างของประเทศเพื่อบ้าน ปลูกฝังต้องแต่อยู่ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และประเทศชาติ ผมคิดว่าถ้าทำได้จะส่งผลดีต่อการเมือง และเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้นแน่นอน” ศุภชัยกล่าวปิดท้าย จากการสอบถามถึงการต่อยอดความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ศุภชัยอกว่าปัจจุบันก็ยังศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ หน่วยงาน และมีโอกาสได้รับการักชวนจากอาจารย์ไปเป็นวิทยากรสอนรุ่นน้อง เป็นยุวทูต คอยแนะนำตามค่ายต่างๆ นับว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่จะเป็นกำลังสำคัญแลเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนไทยด้วย |
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด
238
views
Credit : manager.co.th
News