กสอ.ปั้นไทยสู่ฮับฐานการผลิตรถยนต์ เล็งเพิ่มมูลค่าอุตฯ 5-8%
|
|
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผยธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์โต คิดเป็นสัดส่วนจีดีพี 11% เล็งดันไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อาเซียน ชี้ปี 57 แม้การเติบโตลดลง หลายประเทศเล็งย้ายฐานการผลิต เชื่อไทยได้เปรียบเรื่องภาษี โอกาสนักลงทุนย้ายฐานการผลิตยาก
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญ โดยเติบโตควบคู่กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยมายาวนานกว่า 40 ปี จึงเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและสร้างรายได้มหาศาลนับแสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 11.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยรถยนต์ 1 คันประกอบด้วยชิ้นส่วนมากกว่า 20,000 ชิ้น โดยในปี 2556 ไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้รวมกว่า 2.45 ล้านคัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 จากปี 2555
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยสามารถผลิตรถยนต์เป็นลำดับที่ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และสามารถส่งออกได้อันดับ 13 ของโลก ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบยานยนต์สำเร็จรูปในประเทศ (OEM : Original Equipment Manufacturers) เช่น เบาะ ล้อ ประตู ยาง และเหล็ก เป็นต้น ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับทดแทน (REM : Replacement Equipment Manufacturer) ผู้ประกอบการในส่วนประกอบในกลุ่มระบบตัวถังรถยนต์ (Body Parts) และผู้ประกอบการในส่วนประกอบในกลุ่มกันชน ซึ่งเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 2,400 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการไทย 1,850 ราย ผู้ประกอบการไทยร่วมทุนต่างชาติ 550 ราย
สำหรับมูลค่าการส่งออก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในปี 2556 สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศกว่า 754,225.90 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าส่งออกรถยนต์ 512,186.40 ล้านบาท เครื่องยนต์มูลค่า 28,353.85 ล้านบาท ชิ้นส่วนและอะไหล่มูลค่า 19,715.26 ล้านบาท อุปกรณ์ยึดจับและแม่พิมพ์มูลค่า 2,636.44 ล้านบาท และชิ้นส่วนสำหรับโรงงานประกอบรถยนต์ (OEM Parts) 190,386.45 ล้านบาท และอื่นๆ 947.49 ล้านบาท (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, 2556) ทั้งนี้ ตลาดสำคัญในการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ถึงแม้จะมีทิศทางการชะลอตัวด้านการผลิตและส่งออกอันเนื่องมาจากการสิ้นสุดนโยบายรถคันแรก รวมทั้งปัญหายืดเยื้อทางการเมืองส่งผลให้มูลค่าการผลิตและส่งออกลดลงไปบ้างแต่ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเพราะมีรากฐานที่มั่นคงและยังคงมีความต้องการในตลาดอยู่มาก แม้มีนักลงทุนรายใหญ่หลายเจ้าเริ่มมีแนวคิดในการย้ายฐานการผลิตและขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพรองรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่า แต่ในแง่ของคุณภาพการผลิตและปัจจัยแวดล้อมการผลิต ไทยยังมีข้อได้เปรียบอยู่หลายด้าน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งของไทยมีคุณภาพ ทั้งทางถนน ท่าเรือ และเครื่องบิน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาค และต้นทุนในการประกอบรถยนต์ถูกกว่าเพราะชิ้นส่วนส่วนใหญ่กว่า 95% ไทยสามารถผลิตได้เอง จึงไม่ต้องเพิ่มต้นทุนในการขนส่งมากนัก นอกจากนี้ ภาษีการผลิตรถยนต์ของไทยไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซีย จึงเชื่อมั่นได้ว่าไทยจะยังคงรักษาฐานการผลิตที่เน้นการลงทุนสูงไว้ได้” นายกอบชัยกล่าวทิ้งท้าย