หวั่นอุตสาหกรรม
องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย-กลุ่มประมงพื้นบ้าน กรมประมง องค์กรภาคเอกชนและนักวิชาการแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทะเลไทย หวั่นความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้นกับวิธีการจับปลาแบบทำลายล้างจะเร่งส่งผลให้อุตสาหกรรมประมงไทยล่มสลาย ย้ำการทำประมงอย่างยั่งยืนและได้มาตรฐานเป็นสิ่งจำเป็นถ้าไทยต้องการเป็นศูนย์กลางประมงในอาเซียนในอนาคต ชูความร่วมมือพัฒนามาตรฐานการผลิตปลาป่นที่ยั่งยืน
“ประเทศไทยไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจากหันมาปฎิวัติแนวทางการทำประมงให้เป็นแบบยั่งยืน การเป็นศูนย์กลางอาหารทะเลในภูมิภาค (ASEAN Seafood Hub) ไม่ได้หมายถึงแค่การทำเป้าส่งออกหรือรายได้ แต่จุดหมายต้องเป็นการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบที่มีความยั่งยืนของระบบนิเวศน์และความเป็นธรรมระหว่างประมงรายเล็กและรายใหญ่เป็นหัวใจสำคัญ ไม่เช่นนั้นเราคงไปถึงเป้าหมายร่วมกันไม่ได้” นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทยกล่าว
เนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหนึ่งในระบบการผลิตอาหารที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกราว 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นได้เร่งให้ระบบการผลิตอาหารของโลกขาดความยั่งยืน นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกันพิจารณาทางเลือกให้เกิดความยั่งยืนในท้องทะเลไทย อุตสาหกรรมปลาป่นไทยมีการขยายตัวมาเกือบสองทศวรรษ แต่วัตถุดิบเข้าโรงงานไม่เพียงพอ กำลังการผลิตของโรงงานจึงใช้เพียงสามสี่สิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ความต้องการปลาป่นเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีมากขึ้น
"หากไม่มีวิธีการบริหารจัดการที่ดีพอ จะมีผลกระทบต่อปริมาณปลาเศรษฐกิจของประเทศด้วย ปัจจุบันกรมประมงมีการนำระบบจูงใจมาใช้ เพื่อให้ชาวประมงใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม มีการแจ้งว่าจับปลาที่ไหน โดยมีซีพีเอฟนำร่องก่อนว่าหากชาวประมงมีที่มาที่ไปในการจับจะได้ราคาที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัด และยังมีอีกหลายด้านที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องกฎหมายและการควบคุมอย่างเข้มงวดให้เกิดขึ้น จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะต้องทำงานร่วมกัน” นายสุรจิตต์กล่าว
เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทยได้ร่วมกับกรมประมง สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และบริษัท ป่าสาละ จำกัด จัดงานเสวนา “ความท้าทายของอุตสาหกรรมปลาป่นกับความยั่งยืนของทะเลไทย” เมื่อวันที่ 25 มี.ค.57 รายงานผลการวิจัยการจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นใน จ.สงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วนราว 120 คน เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับวิกฤติทะเลไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหา แสวงหาความร่วมมือเพื่อสร้างแนวปฏิบัติอันจะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม สอดคล้องกับระบบนิเวศน์และศักยภาพของทะเลไทยให้ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์สามารถอยู่ร่วมกันและได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากการจับปลาเกินขนาด จึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมงและกรมจัดการทรัพยากรชายฝั่งร่วมกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้ไข พรบ. ประมงที่ล้าสมัย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า นอกจากปลาป่นแล้ว ยังมีวัตถุดิบอีกหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง ที่จะต้องทำให้ยั่งยืน ผู้ผลิตอาหารสัตว์อยู่ตรงกลางห่วงโซ่สามารถผลักดันได้ เพราะการใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ จึงควรใช้ระบบตลาดมาทำคู่ขนาน ใช้ระบบแรงจูงใจด้วยราคาในการรับซื้อปลาป่นจากผู้ผลิตที่ปฏิบัติดี ขณะเดียวกันพัฒนามาตรฐานความยั่งยืน
“8 สมาคมเอกชนต้องร่วมกันทำมาตรฐานความยั่งยืนและมีผู้รับรองมาตรฐาน เพื่อให้การจับปลาเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เช่น จะใช้ตาอวนถี่อีกไม่ได้ ภายในสามปีน่าจะเห็นผล และทุกคนอยู่ได้ ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ โรงงานอาหารสัตว์ เน้นที่คุณค่ามากขึ้น ทุกบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยต้องทำ เพราะหากไม่ทำประเทศไม่ยั่งยืน และผู้บริโภคต้องเรียกร้องอาหารสัตว์ที่ปลอดภัยด้วย” นายพรศิลป์กล่าว
จากผลการวิจัยล่าสุดเรื่อง “การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลาเพื่อสนับสนุนการหารือปรับปรุงมาตรฐานความยั่งยืน” ที่จัดทำโดยองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทยและบริษัทป่าสาละ พบว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นลูกค้าปลาป่นรายหลักจะเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดซื้อวัตถุดิบที่ยั่งยืนมากขึ้นเพราะแรงกดดันของผู้ซื้ออาหารแช่แข็งโดยเฉพาะในทวีปยุโรป
จากการสำรวจอุตสาหกรรมปลาป่นในจังหวัดสงขลา ทีมวิจัยพบว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์โดยรวมยังไม่สนใจวิธีในการจับปลามาเป็นวัตถุดิบผลิตปลาป่น ปลาป่นที่ผลิตจาก "ปลาเป็ด" ที่ถูกจับมาด้วยอวนลากและอวนรุนที่ขูดพื้นทะเลและทำลายระบบนิเวศน์ต่างๆ จึงยังขายได้ ทำให้มีเรือประมงพาณิชย์ยังคงจับปลาโดยใช้อุปกรณ์ทำลายล้าง เช่น อวนรุนอวนลากต่อไป
ข้อมูลจากทีมวิจัยยังพบว่าจังหวัดสงขลาเป็นผู้ผลิตปลาป่นรายใหญ่อันดับ 1 ของภาคใต้และอันดับ 2 ของประเทศ โดยอันดับ 1 ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จากสถิติของกรมประมง จังหวัดสงขลาผลิตปลาป่นได้ 39,402 ตันในปี พ.ศ.2554 คิดเป็น 12% ของผลผลิตทั้งประเทศ แต่สิ่งที่ทำให้ปัญหาการจับปลาไม่เลือกบานปลายเป็นการจับปลาเกินขนาด คือ การขาดการบังคับใช้กฎหมายประมงและอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาหลายสิบปีและทำให้มาตรการอนุรักษ์ทั้งของทางรัฐและภาคประชาชนมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น