นักธุรกิจหนีไทยลงทุนตปท.
ASTVผู้จัดการรายวัน-การเมืองป่วน ทำนักธุรกิจหนีไทยหันลงทุนในอาเซียน เผยล่าสุดมี 1,440 ราย เตรียมขนเงิน 1.2 แสนล้านออกไป ระบุหากการเมืองยังยืดเยื้อ นักธุรกิจจะหนีไทยมากยิ่งขึ้น ห่วงเปิด AEC สินค้าไทยถูกเวียดนามแย่งตลาด แถมเจอแย่งเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจในไทยต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองว่า นักธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อยู่ในไทยจำนวน 1,440 ราย มีแผนที่จะขยายการลงทุนในประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 123,716 ล้านบาท จากเดิมที่มีเพียง 480 ราย มูลค่า 23,423 ล้านบาท
ที่จะขยายฐานการผลิตในอาเซียน เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ และหากการเมืองยืดเยื้อไปจนถึงปี 2558 ก็จะมีนักธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 2,800 ราย ที่จะเร่งขยายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้านในอัตราก้าวกระโดด คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในจำนวนนักธุรกิจที่จะขยายการผลิตไปในอาเซียน 1,440 รายนั้น แยกเป็นการไปลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 37,582 ล้านบาท รองลงมาเป็น พม่า 26,251 ล้านบาท เวียดนาม 22,254 ล้านบาท มาเลเซีย 14,522 ล้านบาท สิงคโปร์ 11,933 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีกค้าส่ง การเงินและประกันภัย คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“เหตุผลที่นักธุรกิจไทยต้องการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียน เพราะต้องการหาแหล่งการผลิตที่มั่นคงทางการเมืองและมีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่าไทยที่มีปัญหาการเมืองยืดเยื้อจนเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงต้องการแหล่งวัตถุดิบที่สามารถลดต้นทุนในการผลิต และต้องการหาค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า”
นายอัทธ์กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองและความไม่พร้อมในหลายๆ ด้านของประเทศไทย ศูนย์ฯ ประเมินว่าหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะทำให้สินค้าของไทย 23 รายการจากทั้งหมด 96 รายการที่ส่งออกไปตลาดอาเซียนต้องสูญเสียตลาดแก่เวียดนามประมาณปีละ 29,254 ล้านบาท เช่น ข้าว ยาสูบ รองเท้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง พืชผัก กระดาษ พลาสติกและสารเคมีต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สาเหตุที่ไทยต้องเสียส่วนแบ่งตลาดแก่เวียดนาม คือ เรื่องของต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าเวียดนาม 2-3 เท่า เช่น เรื่องของต้นทุนการผลิตของสินค้าเกษตร ค่าแรงขั้นต่ำที่เวียดนามอยู่ที่ 102 บาทต่อวัน แต่ไทย อยู่ที่ 300 บาทต่อวัน ค่าเช่าสำนักงานที่ของไทยเฉลี่ยที่ 825 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน แต่เวียดนามอยู่ที่ 715 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน รวมถึงเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟ
เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของราคาสินค้าไทยแพงกว่าเวียดนาม และไทยมีปัญหาทางการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลบ่อย
นอกจากนี้ ในอนาคตพบว่า เวียดนามจะแย่งเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากไทยในหลายๆอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องหนัง อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ประมงแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ เหล็ก อัญมณีและเครื่องประดับ กระดาษ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ธุรกิจในโรงพยาบาล เป็นต้น