คนไทยนิยมนั่งเครื่องบินไปเที่ยวพม่าเนืองแน่นจนติดอันดับ 1
นักท่องเที่ยวสูงวัยนั่งพักผ่อนในบริเวณลานกว้างริมทะเลสาบอินยา (Inya Lake) กรุงย่างกุ้งวันที่ 1 ก.พ.2556 ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในพม่า ยังมีอีกหลายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวจากโพ้นทะเลผู้แสวงสิ่งใหม่ๆ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าผ่านท่าอากาศยานกรุงย่างกุ้งได้พุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ ในนั้นกว่า 60% เป็นนักท่องเที่ยว สื่อรายงานอ้างตัวเลขอย่างเป็นทางการ. -- REUTERS/Soe Zeya Tun. .
ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าพม่าผ่านท่าอากาศยานกรุงย่างกุ้งถึง 253,136 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 43.88% เทียบกับ 175,930 คน ในช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ชาวเอเชียคิดเป็นจำนวนกว่า 60% ของทั้งหมด ในนั้นเป็นชาวไทย 37,333 คน เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในปีนี้
จากจำนวนที่เดินทางเข้าทางเครื่องบิน 64% เป็นนักท่องเที่ยว รวมทั้ง 108,168 คนที่เป็นนักท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free International Tourist) คิดเป็นอัตราเพิ่มเกือบ 35.5% อีก 55,584 คน เป็นนักท่องเที่ยวแบบแพกเกจ
รองจากชาวไทย เป็นชาวญี่ปุ่น จำนวน 21,779 คน ตามด้วยชาวเกาหลี เป็นอันดับ 3 จำนวน 18,813 คน กับชาวจีนอีก 16,041คน นิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ รายงานอ้างสถิติอย่างเป็นทางการของกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยว
ในช่วงเดียวกัน มีชาวยุโรปเดินทางเข้าถึง 67,460 คน เป็นกลุ่มใหญ่อันดับ 2 ถัดจากชาวเอเชีย โดยมีชาวฝรั่งเศสมากที่สุดคือ 15,251คน อังกฤษ 13,119 คน เยอรมนี อีก 11,289 คน นิตยสารข่าวซึ่งเป็นของเอกชนกล่าว
กรุงเก่าย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ ปลายทางใหญ่อื่นๆ ได้แก่ มัณฑะเลย์ (Mandalay) เมืองหลวงเก่าสมัยราชอาณาจักรที่ปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 พุกาม (Bagan) และกรุงเนปีดอ (Naypyidaw) เมืองหลวงปัจจุบัน
พม่ายังเปิดด่านชายแดนหลายแห่งให้นักท่องเที่ยวจากไทย จีน และอินเดีย สามารถเดินทางเข้าได้ และหลายฝ่ายคาดว่า ปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงครึ่งต่อครึ่ง นั่นคือกว่า 2 ล้านคน
นายอองดิน (Aung Din) ผู้อำนวยการจัดการบริษัทเนเชอร์เลิฟเวอร์ (Nature Lover Co) กล่าวกับหนังสือพิมพ์อีเลฟเว่นนิวส์ (Eleven News) ในขณะเดียวกันว่า นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพม่ามากที่สุดในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. จำนวนลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่มากกว่าหากเทียบกับแต่ละช่วงเมื่อปีที่แล้ว
ไฮซีซันการท่องเที่ยวจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.ของทุกปี ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. ซึ่งจะเริ่มฤดูฝน
ตามรายงานของกระทรวงการโรงแรมฯ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2550 (เกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้เดินขบวนต่อต้านรัฐบาล) และดำดิ่งลงไปอีกเมื่อประเทศนี้ประสบภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กิส ที่พัดเข้าถล่มเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีในเดือน พ.ค.2551 ซึ่งมีคนตาย และสูญหายไปเกือบ 30,000 คน
นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าพม่าอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2553 ที่เริ่มการปฏิรูปในประเทศ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบ 20 ปี จำนวนได้เพิ่มทะลุ 1 ล้านคนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ที่พม่าบริหารโดยรัฐบาลกึ่งพลเรือน.
.
วันที่ 25 พ.ย.2550 พระสงฆ์ แม่ชี กับนักท่องเที่ยวจุดเทียนในยามค่ำเพื่อไปนมัสการพระธาตุไจ๊ทิโย (Kyaikhtiyo Pagoda) ในเมืองชื่อเดียวกันอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 170 กิโลเมตร ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ได้เห็นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากในช่วงต้นๆ ปี จำนวนลดฮวบลงในปลายปีที่มีการปราบปรามผู้เดินขบวนต่อต้านรัฐบาล ปีถัดมายิ่งดำดิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติใหญ่ การท่องเที่ยวเพิ่งจะโงหัวได้อีกในปี 2553. -- AFP Photo/Khin Maung Win.
ชาวต่างชาติกลุ่มนี้เดินทางเข้ากรุงย่างกุ้งเดือน เม.ย.2012 ก็จึงได้ร่วมฉลองชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมของพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยกับนางอองซานซูจี การท่องเที่ยวพม่าไปโลดในบรรยากาศประชาธิปไตยและการปฏิรูป ปี 2555 จำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่า 1 ล้านคน สมาคมการท่องเที่ยวเชื่อว่า ปีนี้จำนวนจะเพิ่มขึ้นกว่า 50% หากไม่ถึง 2 ล้านก็คงจะเฉียดๆ ทีเดียว. -- Reuters/Soe Zeya Tun.
ที่มา : manager.co.th
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด
444
views
Credit : aseanthai.net
News