“พาณิชย์” ทำพิมพ์เขียวรับ AEC ปี 58 เร่งเปิดศูนย์ช่วยธุรกิจ ตั้งเออีซี ซิตี้ พร้อมดันกองทุนช่วยผู้ประกอบการ
|
“พาณิชย์” เปิดพิมพ์เขียวรับ AEC เดินหน้าวางยุทธศาสตร์ดันธุรกิจไทยบุกอาเซียน เร่งตั้งศูนย์สนับสนุน 87 แห่งทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และในอาเซียนบวกจีน พร้อมดันตั้งเออีซี ซิตี้ นำร่องขอนแก่น เชียงราย สงขลา หวังขยายศูนย์กลางการค้ารับ AEC เตรียมตั้งกองทุนเออีซี ฟันด์ ช่วยธุรกิจไทยเจาะตลาดอาเซียน ยันปัญหาการเมืองไม่กระทบการเจรจาการค้าเสรี
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำพิมพ์เขียวเพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และในต่างประเทศเข้าด้วยกัน รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ AEC โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีความพร้อมในการบุกเจาะตลาด AEC ให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Business Support Centers) จำนวน 87 ศูนย์ ซึ่งจะตั้งอยู่ในส่วนกลางที่กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในอาเซียนและจีนตอนใต้ คือ คุนหมิง เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนแบบครบวงจรในทุกแง่มุม ทั้งในด้านการค้า การลงทุน เหมือนกับเจโทรโมเดลที่คอยให้การสนับสนุนนักลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศต่างๆ
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ จะผลักดันให้มีการจัดตั้งเออีซี ซิตี้ โดยเบื้องต้นจะตั้งใน 3 จังหวัดก่อน คือ ขอนแก่น เชียงราย และสงขลา เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางในส่วนภูมิภาคที่จะรองรับการเปิด AEC เพื่อให้ศูนย์กลางธุรกิจขยายตัว ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว
สำหรับด้านการค้าชายแดน มีแผนที่จะใช้ประโยชน์จาก AEC โดยจะเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า ณ จุดผ่านแดน ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าแถบชายแดนและในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทย รวมถึงการส่งเสริมให้เอกชนใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มในภูมิภาค เช่น ระเบียบเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)
“ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายตลาดของไทยในตลาด AEC ให้ได้มากที่สุด โดยมีแผนที่จะบุกตลาดอาเซียนอย่างจริงจัง จะอัดแผนสนับสนุนอย่างเต็มที่ และไม่มองอาเซียนแค่ตลาดใดตลาดหนึ่ง แต่จะมองตลาดอาเซียนเป็นตลาดเดียว ทำให้เป็นตลาดภายในของไทยที่มีประชากรรองรับถึง 650 ล้านคน” นางศรีรัตน์กล่าว
นางศรีรัตน์กล่าวว่า แผนระยะต่อไป กระทรวงฯ จะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนเออีซี เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยบุกเจาะตลาด AEC ซึ่งจะครอบคลุมในด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ รูปแบบธุรกิจ การพัฒนาสินค้าและบริการ และการสร้างโอกาสทางการค้าในรูปแบบต่างๆ โดยเบื้องต้นมีแนวคิดที่จะหางบประมาณสนับสนุน 100 ล้านบาท ซึ่งได้จัดทำแผนงานคร่าวๆ ไว้แล้ว รอที่จะเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาต่อไป
สำหรับแผนพัฒนาผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ จะช่วยยกระดับและคุณภาพสินค้าและบริการของไทย การพัฒนาให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากอี-คอมเมิร์ซในการเพิ่มช่องทางการค้าขายใหม่ๆ การสนับสนุนให้มีการเพิ่มศักยภาพด้านลอจิสติสก์การค้า เช่น คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ด่านศุลกากร และการปรับประสานกฎระเบียบในการขนส่งและพิธีการศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเพิ่มองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ โดยจะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลเกี่ยวกับ AEC และมีแผนที่จะจัดให้มีการอบรมพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด AEC เช่น โครงการ Young AEC Traders โครงการ OTOP Traders และโครงการสร้างนักธุรกิจมืออาชีพ เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงฯ ที่มีถึง 31 ฉบับ โดยจะเร่งปรับปรุงฉบับที่ล้าสมัยก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน
ส่วนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ทั้งในกรอบของอาเซียน และกรอบอื่นๆ เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ยืนยันว่า ปัญหาทางการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจา เพราะทีมเจรจายังทำหน้าที่เจรจาได้ เว้นแต่การลงนามในข้อตกลงบางฉบับที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องรอให้ผ่านกระบวนการของรัฐสภาก่อน แต่เชื่อว่า หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้วการเจรจาหรือการลงนามในข้อตกลงก็คงทำได้ตามปกติ |
|
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th
ดูทั้งหมด
212
views
Credit : manager.co.th