กสอ.ชี้สำรวจ SMEs เข้าสู่ AEC พบ ผปก.มีความพร้อมด้านการเงินต่ำสุดเพียงร้อยละ 4
|
||
นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า จากการสำรวจข้อมูลของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับกรมฯ ในปี 2556 เกี่ยวกับความมั่นใจต่อการเข้าสู่ AEC พบว่า ด้านการผลิต มีผู้ประกอบการมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ถึงกว่าร้อยละ 37 โดยมีเครื่องจักรอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาตรฐานสากล รองลงมาคือ ด้านสินค้า มีการพัฒนาให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพ สามารถจัดเก็บได้นาน และเป็นที่รู้จัก ทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ถึงกว่าร้อยละ 23 ด้านบุคลากร มีการพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีคุณภาพ และมีความชำนาญ ทำให้ SMEs มีความมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ได้ร้อยละ 13
ส่วนด้านตลาด สามารถพัฒนาให้มีฐานลูกค้าในประเทศที่มั่นคง มีห่วงโซ่อุปทาน มีการตลาดเชิงรุก และมีการศึกษาข้อมูลการตลาดต่างประเทศ สร้างความมั่นใจต่อผู้ประกอบการในการเข้าสู่ AEC ร้อยละ 12 สำหรับในด้านการบริหารจัดการ มีระบบบริหารที่มีคุณภาพสากล และมีศักยภาพในการกระจายสินค้า ทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความมั่นใจที่จะเข้าสู่ AEC ร้อยละ 11 และสุดท้ายในด้านการเงิน พัฒนาให้มีความพร้อมในด้านการเงินการลงทุน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และไม่มีหนี้สินคงค้าง สร้างความมั่นใจให้แก่ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เพียงร้อยละ 4
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจทั้งเชิงรุก และเชิงรับให้แก่ธุรกิจของตนเอง ทั้งในด้านคุณภาพของสินค้าซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ กสอ.ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีกว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ จึงได้เร่งดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน แรงงาน กลยุทธ์การตลาด การเจรจาธุรกิจ มาตรฐานสินค้า กฎ ระเบียบและข้อบังคับ จึงได้กำหนดจัดสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมรุก AEC” เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการเตรียมความพร้อม และแผนงานการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องเร่งรัดพัฒนา รวมถึงกลไกที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้ผู้ประกอบการ SMEs มากยิ่งขึ้น
ด้าน นายบรรเทิง นวมภักดี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีมีศักยภาพสูงในการประกอบกิจการ ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ และการเพาะปลูก โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 700 โรงงาน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงสุดคือ อุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรแปรรูป รองลงมาคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การแปรรูปโลหะ พลาสติก และโอทอป ตามลำดับ สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น น้ำตาลโตนด กล้วย สับปะรด และอาหารทะเลตากแห้ง เป็นต้น
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด
197
views
Credit : manager.co.th
News