พม่าเปิดประตูเมือง 'เมียวดี' 

พม่าปรับตัวรับเออีซี เตรียมยกระดับหัวเมือง "เมียวดี" ผ่อนคลายกฎระเบียบการค้า-ลงทุนรับเออีซี

พม่าปรับตัวรับเออีซี เตรียมยกระดับหัวเมือง "เมียวดี" ผ่อนคลายกฎระเบียบการค้า-ลงทุนรับเออีซี

หอการค้าจังหวัดเมียวดี เผยรัฐบาลพม่าปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เดินหน้ายกระดับหัวเมืองชายแดน "เมียวดี" รอบด้าน พร้อมนำระบบวันสต็อบเซอร์วิสผ่อนกฎระเบียบการค้าเอื้อการค้า-การลงทุน ขณะที่ความเคลื่อนไหวการลงทุนโรงแรมระดับ 2-4 ดาวคึกคัก รองรับนักเที่ยวไทย-ต่างชาติเข้าพื้นที่ ระบุปลายปีนี้พร้อมเปิดศูนย์แสดงสินค้าโมเดลเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ หวังดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ-เขตอุตสาหกรรมเมียวดี

นางมะติ่นติ่น เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลพม่าได้เปิดประเทศ ทำให้ปัจจุบันนี้จังหวัดเมียวดี ในฐานะเมืองหน้าด่านการค้าชายแดนระหว่างพม่ากับไทย และเป็นประตูเชื่อมต่อจากกรุงย่างกุ้งเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ใกล้ที่สุด ผ่านเส้นทางเมืองเมาะละแม่ง รัฐมอญ เข้ามายังจังหวัดกอกาเร็ก และจังหวัดเมียวดี ก่อนเข้ามาสู่ชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

==> เมียวดีคึกเร่งงานก่อสร้าง

ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด คือ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย-พม่าให้มีความสะดวกขึ้น บริเวณจากจังหวัดเมียวดีเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี ไปจนถึงเมืองกอกาเรก ระยะทางรวมประมาณ 45 กม. จะใช้งบประมาณรวมกันกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งการเปิดเส้นทางใหม่และการปรับปรุงเส้นทางเดิมให้ดีขึ้น โดยรัฐบาลไทยลงทุนให้ประเทศพม่าคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปีจะแล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 50%

นอกจากนี้ สภาพในเขตจังหวัดเมียวดี ยังมีการก่อสร้างบ้านพักอาศัย และโรงแรมเกิดขึ้นอย่างเนื่องตลอดระยะเวลา 1-2 ปีนี้ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมอยู่ระหว่างการก่อสร้างใหม่ 4-5 แห่ง ขนาด 60-100 ห้อง ตั้งแต่ระดับ 2 ดาว - 4 ดาว เพื่อรองรับการหลั่งไหลเข้ามาของนักธุรกิจต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จากเดิมจะมีเฉพาะที่พักในลักษณะโมเต็ลไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง มีห้องพักรวม 1,000 ห้อง เพื่อรองรับพ่อค้าแม่ค้าชาวพม่าที่เข้ามาซื้อขายสินค้า และติดต่อธุรกิจระหว่างไทย-พม่า

==> โหมกิจกรรมหนุนท่องเที่ยว

สำหรับการเติบโตทางด้านการท่องเที่ยวนั้น นับว่าอยู่ในระดับก้าวกระโดด มีนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ สามารถถือพาสปอร์ตเข้ามาท่องเที่ยวยังจังหวัดเมียวดี เช่นเดียวกับชาวพม่าสามารถทำพาสปอร์ตได้ที่เมืองเมาะละแหม่ง, ย่างกุ้ง และพะอันได้ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปยังกรุงเนปิดอว์ และสามารถรับพาสปอร์ตได้ในเวลาเพียง 1 อาทิตย์เท่านั้น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีการคุมเข้มการออกพาสปอร์ต จึงทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก และเกิดการลงทุนด้านการบริการตามมา ภายใต้การทำงานระบบวันสต็อบเซอร์วิส

"ล่าสุด ทางจังหวัดตาก และจังหวัดเมียวดี ได้จัดกิจกรรมมหกรรม ปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ 2014 ครั้งที่ 15 และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเปิดพื้นที่บ้านห้วยส่าน จังหวัดเมียวดี ซึ่งเป็นชุมชนของคนไทยพลัดถิ่น และมีวิถีชีวิตเหมือนคนภาคเหนือของไทย เพื่อที่จะร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ในอนาคต เพราะต่อไปเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวรองรับการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวได้ " นางมะติ่น ติ่น เมี๊ยะ กล่าว

==> รัฐบาลพม่าหนุนบทบาทเอกชน

รัฐบาลพม่าเริ่มเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของเมืองชายแดน มีบทบาทในการสนับสนุน และส่งเสริมการค้า การลงทุนในพื้นที่มากขึ้น โดยหอการค้าจังหวัดเมียวดีตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2534 ปัจจุบันมีสมาชิก 2,000 ราย เป็นผู้ประกอบการทุกแขนงที่มีการรวมตัวกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม, ชิปปิ้ง และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยขณะนี้ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ผู้ประกอบการในพม่า และต่างประเทศให้มาร่วมทำการค้ากัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในประเทศพม่า

ที่สำคัญ ในช่วงปลายปีนี้ ทางจังหวัดเมียวจะเปิดศูนย์แสดงสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี โดยใช้โมเดลเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ของพม่า โดยจะมีการจับคู่ธุรกิจในรูปแบบของงานแสดงสินค้า โดยจะเชิญผู้ประกอบการค้าของพม่า และไทย เข้ามร่วมจัดแสดงสินค้า เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า และการดึงดูดนักลงทุนชาวต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีมากขึ้น

==> เร่งพัฒนานิคมฯ รับลงทุน

นางมะติ่นติ่น กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลพม่าได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ประมาณ 6,000-8,000 ไร่ ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เพื่อรองรับการลงทุน โดยพร้อมที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร, อุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมการ์เม้นท์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมผาอันไปก่อนแล้วบนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งต่อไปเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น

==> คลายกฎอำนวยความสะดวกการค้า

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลพม่ายังปรับกฎระเบียบทางการค้า ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการขอยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ที่จังหวัดเมียวดีได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปกรุงเนปิดอว์ เช่นเดียวกับการขอใบอนุญาตินำเข้าสินค้าสามารถยื่นได้ที่จังหวัดเมียวดี และใช้เวลาในการอนุมัติเพียง 1 วันจากเดิมต้องใช้เวลานานกว่านี้ รวมถึงสินค้ากว่า 1,900 ชนิด จาก 80,000 ชนิด เช่น อุปกรณ์การเกษตร, สินค้าอุปโภคบริโภค และการ์เมนท์ ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้าจังหวัดเมียวดี เล็งเห็นว่าขณะนี้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 รองรับน้ำหนักได้จำกัดไม่เกิน 25 ตัน และเกิดปัญหาจราจรแออัดทั้งฝั่งไทย และฝั่งพม่า อีกทั้งยังต้องใช้วิธีขนถ่ายสินค้าหลายทอด ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น จึงสนับสนุนให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อสามารถขนส่งสินค้าที่รองรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น และการลำเลียงสินค้าจะมีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะหมายถึงระบบโลจิสติกส์ระหว่งไทยกับพม่าจะถูกพัฒนาไปโดยอัตโนมัติ

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

326

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน