ปลากรอบ 'อาโออิ' บุกตลาดจีน-อินโด 

ปลาเส้นอบกรอบ "อาโออิ" เผยกลยุทธ์การทำตลาดเริ่มจากเชียงใหม่จนฮิต วางขายในจีนก็ขายดี เร่งวางแผนเตรียมลุยตลาดใหม่อาเซียน

ปลาเส้นอบกรอบ "อาโออิ" เผยกลยุทธ์การทำตลาดเริ่มจากเชียงใหม่จนฮิต วางขายในจีนก็ขายดี เร่งวางแผนเตรียมลุยตลาดใหม่อาเซียน

ปลากรอบเส้นใหญ่อบกรอบ แบรนด์ "อาโออิ" เผยใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองเริ่มทำตลาดเชียงใหม่จนสินค้าติดตลาด ดันส่งออกสินค้าขายในจีนได้รับผลตอบรับดีเกินคาดมีออเดอร์เดือนละ 60 ลัง วางแผนต่อไปเปิดตลาดใหม่ในอาเซียน เล็งอินโดนีเซีย

นายภานุพงศ์ รัตนศิลา ประธานกรรมการ บริษัท ซูริมิยากิ จำกัด ผู้ผลิตปลาเส้นใหญ่อบกรอบสไตล์ญี่ปุ่น ยี่ห้ออาโออิ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ตัดสินใจทำธุรกิจทำปลาเส้นใหญ่อบกรอบ พร้อมกับทดลองผลิต และคิดค้นสูตรจนลงตัว จากนั้นจึงได้เริ่มส่งปลาเส้นใหญ่อบกรอบ ยี่ห้อ อาโออิ จำหน่ายตามสถานที่ต่างๆของเมืองเชียงใหม่ ทั้งร้านกาแฟ ร้านค้าตามสถานศึกษา และซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ปัจจุบันมีการส่งขายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 300 ร้านค้า และยังได้ขยายตลาดส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน จากการได้รู้จักกับพ่อค้าคนกลาง ที่ส่งขายขนมของไทยไปจีน จึงทำมีโอกาสร่วมทำธุรกิจดังกล่าวด้วย และได้ดำเนินธุรกิจมาเพียง 4 เดือน ในการส่งขายปลาเส้นใหญ่อบกรอบ เพื่อส่งขายไปยังร้านอาหารไทย ผ่านพ่อค้าคนกลางที่มีกลุ่มลูกค้ากว่า 120 ร้าน ทำให้ในแต่ละเดือนจะต้องส่งสินค้าเฉลี่ย เดือนละ 60 ลัง มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือน

ตลาดจีนให้การตอบรับดี โดยนิยมบริโภคปลาเส้นใหญ่อบกรอบรสชาติสมุนไพรไทยที่มีความแตกต่าง และถือเป็นเจ้าแรกที่นำปลากรอบมาเพิ่มรสชาติที่แปลกใหม่ จึงทำให้แนวโน้มการทำธุรกิจในประเทศดังกล่าวมีโอกาสสูงในการขยายตลาด

ขณะนี้กำลังดูลู่ทางการทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าด้วย โดยอยู่ระหว่างการขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล หากไม่ติดปัญหาจะถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะไม่มีคู่แข่งทางการค้า และอินโดนีเซียถือเป็นตลาดใหญ่ในการบริโภคขนมขบเคี้ยว

"หากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองของฮาลาลแล้ว จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อสินค้า คาดว่าน่าจะทันการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเตรียมวางแผนจะบุกตลาดในประเทศดังกล่าวทุกเพศทุกวัย โดยเป้าหมายยอดขายในช่วง 3 เดือนแรกที่เข้าไปเปิดตลาดไม่น่าจะต่ำกว่า 500,000 บาท โดยตอนนี้มีรสชาติที่วางจำหน่ายคือ รสดั้งเดิม, รสบาร์บีคิว และรสต้มยำสมุนไพร และจะมีการพัฒนาสูตรเฉพาะ ด้วยการผสมผสานความเป็นไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะคู่แข่งทางการค้าในต่างประเทศไม่สามารลอกเลียนแบบได้" นายภานุพงศ์ กล่าว

ตลาดในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือไปได้ด้วยดี ส่วนโรงงานที่จังหวัดน่านจะเป็นฐานการผลิตสินค้ากระจายจำหน่ายทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตภาพรวมอยู่ที่ 5,500 ซองต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ในการทำตลาดจะให้ความสำคัญในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และจะใช้ประโยชน์จากโซเซียลเน็ตเวิร์คเข้ามานำเสนอสินค้าไปทั่วโลก ขณะที่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ตอนนี้ได้พัฒนาได้ดีขึ้น มีรูปแบบไม่ได้แตกต่างไปจากสินค้าทั่วไปในท้องตลาด และสะดวกในการบริโภค แต่จะเน้นบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนความเป็นไทยให้มากขึ้น เพื่อสร้างความต่างในท้องตลาด โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ค่อนข้างจะให้ความนิยม และมั่นใจสินค้าคุณภาพจากประเทศไทย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

294

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน