'เงินหยวน' สกุลเงินยอดนิยมอันดับ 8 

การขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินหยวน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ช่วยเพิ่มความนิยมของสกุลเงินจีนในเวทีสากล

การขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินหยวน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ช่วยเพิ่มความนิยมของสกุลเงินจีนในเวทีสากล

ในช่วงเดือน ม.ค. 2557 หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี และสื่อหลายฉบับ ได้ตีพิมพ์ข่าวนำเสนอข้อมูลการใช้เงินหยวนในเวทีระหว่างประเทศ สรุปได้ดังนี้

ระบบสื่อสารด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วโลก (The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) หรือที่เรารู้จักกันใน ชื่อย่อว่า สวิฟท์ (SWIFT) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลการโอนเงินระหว่างธนาคารระหว่างประเทศเปิดเผยว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2556 เงินหยวนได้ก้าวขึ้นเป็นเงินที่ใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก

ระหวางเดือนพ.ย. - ธ.ค. ที่ผ่านมา การใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ขณะที่เงินสกุลอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จนหลายฝ่ายเห็นว่า เงินหยวนกำลังกลายเป็นเงินสกุลหลักในตลาดการเงินและธุรกิจโลก

ความพยายามส่งเสริมเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากลของรัฐบาลจีน ทำให้เงินหยวนได้ก้าวแซง 22 สกุลเงินในการชำระเงินระหว่างประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี โดยนับถึงสิ้นปีที่แล้ว เงินหยวนมีสัดส่วนทางการตลาดร้อยละ 1.12 ของเม็ดเงินที่ใช้ในเวทีระหว่างประเทศโดยรวม จี้ตามหลังเงินฟรังก์สวิส ในอันดับที่ 7 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1.29 มาติดๆ

การขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินหยวนนับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ช่วยเพิ่มความนิยมของเงินหยวนในเวทีสากล จากข้อมูลของธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China) พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปเงินหยวนก้าวขึ้นแตะ 4.63 ล้านล้านหยวนในปี 2556 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ขณะที่การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่าอยู่ที่ 4.16 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากปีก่อน

ขณะเดียวกัน เงินหยวนถูกใช้ในการชำระเงินในรูปของเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit) และการชำระหนี้ส่วนต่างในการค้าโลกในสัดส่วนเกือบร้อยละ 9 ของมูลค่าโดยรวม เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.9 เมื่อต้นปี 2555 เป็นอันดับที่ 2 รองจากเงินดอลลาร์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 81.1

ส่วนเงินยูโรเป็นอันดับที่ 3 มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 7.9 เหลือร้อยละ 6.6 ซึ่งในเรื่องนี้ นายนีล ไอร์วิน คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ได้สะท้อนความคิดเห็นอย่างชัดเจนไว้ว่า

"เงินของจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของเงินดอลลาร์ ในการมีอิทธิพลในเวทีการค้าโลก"

ขณะที่การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศในรูปเงินหยวนมีมูลค่า 534,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนได้กล่าวยืนยันในหลายเวทีว่า จีนจะทุ่มเทผลักดันการปฏิรูป การแลกเปลี่ยนเงินตราล่วงหน้าเพื่อเพิ่มความยืนหยุ่นของค่าเงินหยวนและปล่อยให้ตลาดเข้ามาทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานในอัตราแลกเปลี่ยน

รัฐบาลกลางยังได้กำหนดใช้มาตรการเปิดเสรีทางการเงินใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินข้ามประเทศ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อมั่นว่า เงินหยวนจะได้รับความนิยมและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในปีนี้

นักกลยุทธ์ประจำดอยช์ แบงก์ คาดการณ์ว่า การผ่อนคลายมาตรการทางการเงินภายใต้นโยบายการเปิดเสรีเงินหยวนจะชักนำให้ตลาดพัฒนาต่อไปในปี 2557 อาทิ การปฏิรูปตลาดการเงินสำคัญในเขตเสรีทางการค้า ณ นครเซี่ยงไฮ้ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการ ชำระเงินในรูปเงินหยวนในยุโรปและศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคอื่น การผ่อนคลายอุปทานเงินหยวนในตลาดเงินหยวนออฟชอร์ และการเปิดกว้างการเข้าสู่ตลาดทุนในจีนแก่ชาวต่างชาติ

นายไมเคิล แอนดรูว์ ประธานกรรมการบริหารของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชันแนล เห็นว่า การเปิดตลาดเงินทุนของจีนให้กว้างมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและนักธุรกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกด้วย

การเพิ่มค่าของเงินหยวนต่อเงินดอลลาร์ นับเป็นหนึ่งในแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการค้าและลงทุนระหว่างประเทศยังคงต้องการถือหรือใช้เงินหยวน

นายฉู่ หงปิน หัวหน้าทีมเศรษฐกรแห่งเอชเอสบีซี โฮลดิ้ง คาดการณ์ว่า เงินหยวนจะเพิ่มค่าขึ้นร้อยละ 1-2 ในปีนี้

"แนวโน้มค่าเงินยังคงเพิ่มขึ้นในปี 2557 แต่การผันผวนก็จะมีอยู่สูงกว่าที่เคยปรากฏมา"

นอกจากนี้ ยังมีผลจากการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก สรุปว่า ค่าเงินหยวนซึ่งปิด ณ วันที่ 23 ม.ค.อยู่ที่ 6.0510 ต่อดอลลาร์ จะเพิ่มค่าร้อยละ 1.4 ในปีนี้เป็น 5.97 หยวนต่อดอลลาร์ ฃ

อย่างไรก็ดี บางส่วนยังมีคำถามสงสัยว่า เงินหยวนจะไต่อันดับความนิยมสูงขึ้น หรืออย่างน้อยรักษาสถานะ "เงินยอดนิยม 10 อันดับแรก" ได้อยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะนักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า ความนิยมในการใช้เงินหยวนอาจลดระดับลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน

แม้ว่านักวิเคราะห์บางส่วนจะเห็นว่า เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เงินหยวนยังเป็นสกุลเงินที่น่าฝากความหวังไว้มากที่สุด แต่ก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมเอาไว้ว่า ในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงสถานะของเงินหยวนในเวทีสากลจะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในเวทีการเงินโลก

ข้อมูลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ตัวชี้สถานะของเงินหยวน แต่อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น อาทิ ความจำเป็นในเชิงโครงสร้างของกองทุนการเงินโลก และผู้ค้าเงินรายย่อย นอกจากนี้ บางรายยังคาดว่า เงินหยวนจะบรรลุสถานะพื้นฐานของการเป็นเงินสกุลสากลในราวปี 2560

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ด้วยเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลจีน นโยบายและมาตรการ ผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลของรัฐบาลจีน การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพของจีน และแนวโน้มการเพิ่มค่าของเงินหยวนในอนาคต เราจึงคาดว่าจะเห็นใบหน้าของท่านประธานเหมา เจ๋อตุง บนธนบัตรเงินหยวนในเวทีการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศมากขึ้น

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

301

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน