อาเซียนติดหล่มประชาธิปไตย 

นักวิชาการฯ แนะเร่งพัฒนาการศึกษา-ผู้นำ หลายประเทศพัฒนาดีขึ้น แต่ไทย-กัมพูชายังติดกลุ่มล้าหลังอาเซียน

นักวิชาการฯ แนะเร่งพัฒนาการศึกษา-ผู้นำ หลายประเทศพัฒนาดีขึ้น แต่ไทย-กัมพูชายังติดกลุ่มล้าหลังอาเซียน

เส้นทางบนถนนที่มุ่งสู่ความเป็นความประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศกำลังสะดุดกับหลุมแห่ง "ความขัดแย้ง" ติดหล่มแห่ง "วงจรอุบาท"การพัฒนาบนถนนสายนี้ของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร? ประเทศไทยอยู่ตรงจุดไหน

อาเซียนพลัส ได้เปิดมุมมองนักวิชาการจากงานเสวนา ที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย "การชุมนุมทางการเมือง: ภาพสะท้อนการเติบโตของประชาธิปไตยในดินแดนอาเซียน ?"

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวถึงภาพรวมของประชาธิปไตยในอาเซียนว่า "ประชาธิปไตย" ได้แผ่ไปในทุกประเทศ ซึ่ง "ประชาธิปไตยเสรีนิยม" มีทุนนิยมเป็นองค์ประกอบ ขณะนี้ทุกประเทศกำลังมุ่งไปสู่ระบบทุนนิยม บางประเทศไปได้ไกล บางประเทศไปได้ช้า เช่น เวียดนาม ที่ยังไปไม่ถึงไหนเพราะตอนนี้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วน สปป.ลาวก็คล้ายเวียดนาม แต่มีการเปิดเสรีในเรื่องของทุนนิยมแล้ว

ส่วนประเทศที่มีการเปิดรับประชาธิปไตยมานานแต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะฝ่ายค้านไม่ค่อยมีบทบาท เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ กำลังอยู่บนเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่สมบูรณ์ขึ้น

ส่วนประเทศไทยที่ดูเหมือนมีการเปิดสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ที่จริงแล้วไม่สมบูรณ์ เพราะว่าตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยม นายสมชาย กล่าวว่า "เส้นทางประชาธิปไตยในไทยนี้ นอกจากจะไม่สมบูรณ์แล้วยังมีหลุมของเผด็จการเสียงข้างมาก เราอยู่ครึ่งๆกลางๆ เหมือนกับ ฟิลิปปินส์สมัยปลายยุคประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส"

ประเทศฟิลิปปินส์ตอนนี้กำลังอยู่บนเส้นทางที่สมบูรณ์มากขึ้น หลังจากที่ผ่านพ้นช่วง "เผด็จการประชาธิปไตย" ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสที่ปกครองประเทศมานานถึง 20ปี ผู้นำฟิลิปปินส์รายนี้ ใช้นโยบายประชานิยมซื้อใจชาวรากหญ้าจนได้รับการสนับสนุน เขาควบคุมสถาบันสำคัญของประเทศ ผูกขาดธุรกิจ โกงการเลือกตั้ง ก่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ก่อให้เกิดรอยร้าวในสังคม แต่สุดท้ายก็ถูกประชาชนขับไล่

"ฟิลิปปินส์ผ่านการปฎิรูปด้านการขจัดการคอร์รัปชั่น แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่ก็ก้าวหน้ามากกว่าไทย เห็นได้ชัดว่าประชาชนมีความตื่นตัวต่อต้านการโกง" ส่วนอินโดนีเซียอยู่ในขั้นตอนของการปฎิรูป ซึ่งช้ากว่าในกรณีของฟิลิปปินส์ เห็นได้จากเรื่องของการคอร์รัปชั่นที่ยังเป็นปัญหาอยู่

@ วงจรอุบาทว์แห่งประชาธิปไตย

นายสมชายชี้ว่า การเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ขณะนี้อยู่ในวงจรอุบาทว์ (VICIOUS CYCLE) เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชา วงจรนี้เกิดหลังการเปิดสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อเปิดประเทศ ก็มีการหาเสียง โกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มรัฐบาลเก่า ซึ่งวิธีโกงการเลือกตั้งแล้วให้อยู่ต่อได้ คือ การนำเงินมาปรับใช้ผ่านนโยบายประชาสังคม จากนั้นปัญหาการหาเงินมารักษาเสียงก็จะตามมา การคอร์รัปชั่นก็จะมากขึ้น ในการรักษาฐานเสียง บางประเทศก็เกิดกองทัพประชาชนที่สนับสนุน รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของตนเอง จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้อยู่ได้นาน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนอีกกลุ่มที่ต้องการรักษานิติรัฐ วงจรอุบาทนี้เกิดกับประเทศต่างๆ เช่น หลายประเทศในละตินอเมริกา

นายสกุล สื่อทรงธรรม กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ที่มองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอาเซียน เริ่มต้นจากการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งเพียงเป็นหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้สมบูรณ์ โดยที่สื่อต้องเป็นกลาง เป็นกลไกสำคัญในการให้ความรู้ประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคและเป็นธรรมต่อทุกพรรคการเมือง

@ แนะพัฒนาการศึกษา-ผู้นำ

การจะหลุดออกจากวงจรอุบาทว์ได้นั้น นายสมชาย แนะว่าต้องอาศัย 2 ปัจจัยสำคัญคือ การพัฒนาการศึกษา และ การมีผู้นำที่รับผิดชอบ ในแง่ของการศึกษา ต้องมีการพัฒนาและ ปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนรู้เท่าทันและต่อต้านการโกง อย่างกรณีของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่มีการปลูกฝังวัฒนธรรมต่อต้านการโกงได้สำเร็จ สังคมไม่ยอมรับการโกงแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นแรงกดดันนักการเมืองที่คดโกง

ในแง่ของผู้นำ เห็นได้จากกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ที่ผู้นำชูนโยบายและเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่มีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างลีกวนยู ผลักดันนโยบายต่อต้านคอรัปชั่น ส่งผลให้ระดับการทุจริตในสิงคโปร์นั้นต่ำมาก

อีกองค์ประกอบสำคัญที่ตามมา คือ นักการเมืองที่มีคุณภาพมีความรับผิดชอบ เมื่อผลประโยชน์ส่วนตนหมดไป ก็จะนำมาซึ่งการประสานสมานฉันท์ หากผู้นำที่มีความรับผิดชอบบริหารประเทศได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพก็จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ต่างจากผู้นำในวงจรอุบาทที่เห็นประโยชน์ส่วนตน ไม่กล้าลาออกเพราะ "กลัวน้ำลดตอผุด"

@ ชี้ขัดแย้งไม่กระทบแผนเออีซี

แม้ว่าหลายคนจะมีความกังวลใจว่าไฟความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน อาจจะเป็นอุปสรรคใหญ่ขวางการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ในมุมมองของ นายสมชาย เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค เห็นได้จากกรณีที่จีนกับญี่ปุ่นมีประเด็นปัญหาข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะ แต่ขณะเดียวกันยังสามารถรวมตัวอยู่ในอาเซียนบวกสาม มองเห็นประโยชน์ร่วมกันภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน หรือ RCEP

"จะเห็นได้ว่ามีสองมิติ คือมิติ WIN-WIN (ได้ผลประโยชน์ทั้งคู่) ด้านเศรษฐกิจ และอีกมิติคือ ZERO-SUM GAME (ชนะได้หมด แพ้เสียหมด) ด้านความมั่นคง เพราะฉะนั้นการเมืองในอาเซียนจะไม่กระทบกับการรวมกันเป็นเออีซี"

@ ชี้การเมืองฉุดโอกาสไทยนำอาเซียน

"ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ ไทยควรเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่ปัญหาของการเมืองไทย บวกกับคุณภาพของความเป็นผู้นำ มันทำให้โอกาสตรงนี้หมดไป เราขาดผู้นำแบบลีกวนยูที่มองโลกออก เป็น ROLE MODEL ให้นักการเมือง" นายสมชายกล่าว

ขณะที่นายสกุล ยังมั่นใจว่าไทยจะสามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้

ประเทศไทยยังมีศักยภาพในหลายด้าน ศูนย์กลางทางการเงินเราก็มีโอกาส เพราะเรามีปริมาณสถาบันการเงินสูงและเชื่อมโยงในภูมิภาคได้ เรื่องการศึกษา ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ทุกคนอยากมาเรียนที่นี่ เราก็เป็นศูนย์กลางได้ เพราะเรามีสถานศึกษามากมาย ซึ่งไทยยังมีโอกาส

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

313

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน