สดร.ดึงเกาหลีใต้สร้างเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุระดับอาเซียน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือสถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี จัด “Winter School in Radio Astronomy” ครั้งแรกในไทยเมื่อปลายเดือน ม.ค.57 ที่ผ่านมา โดย รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การอบรมครั้งนี้ได้ระดมนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์วิทยุทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และกัมพูชา เข้าร่วมอบรม ประมาณ 45 คน “เราได้รับความร่วมมือจากนักดาราศาสตร์วิทยุของสถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี (Korea Astronomy and Space Science Institute : KASI) มาเป็นวิทยากรหลัก ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การศึกษาวิจัยและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านดาราศาสตร์วิทยุ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์วิทยุจากประเทศไทย เยอรมัน นิวซีแลนด์ อังกฤษ นับเป็นการพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์วิทยุครั้งแรกในประเทศไทยที่จะรองรับการพัฒนางานวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุในอนาคต” รศ.บุญรักษากล่าว ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ ปัจจุบัน สดร. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการวิจัยและพัฒนากล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุเพื่อใช้ศึกษาวัตถุท้องฟ้าในช่วงความยาวคลื่นวิทยุที่ต่างๆ กัน “เราคาดหวังว่าหลังการอบรมฯ ประเทศไทยจะสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์วิทยุทั้งภายในประเทศ และสามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางดาราศาสตร์วิทยุระหว่างประเทศอาเซียน และเอเชียตะวันออกต่อไป” ผู้อำนวยการ สดร.ระบุ “Winter School in Radio Astronomy” เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สดร. กับ KASI เกาหลีใต้นับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์วิทยุเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย มีระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกล VLBI (Very Long Baseline Interferometry) ที่ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 21 เมตร จำนวน 3 ชุด ติดตั้งในส่วนต่างๆ ของเกาหลีใต้ มีความละเอียดเทียบเท่ากับกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 500 กิโลเมตร เพื่อศึกษาและสังเกตวัตถุท้องฟ้าในช่วงความยาวคลื่นวิทยุที่ความถี่ต่างๆ กัน |
||||
|
||||
|
||||
|
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด
251
views
Credit : manager.co.th
News