บล.เออีซีปิดดีลจับ 2 ยักษ์ใหญ่เซ็น MOU ลุยพลังงานทดแทน
|
บิ๊ก “เออีซี” เผยมีดีลในมือรอให้บริหารอีกหลายหมื่นล้าน ปีนี้ Q1 ปีนี้เปิดสาขาครบ 9 แห่ง
“ประพล มิลินทจินดา” หัวเรือใหญ่ บล.เออีซี ดึง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่เซ็น MOU ร่วมลงทุนโครงการพลังงานทดแทน (กังหันลม) ยาวที่สุดในเอเชียอาคเนย์กว่า 60 กิโลเมตร มูลค่าลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท ระบุตอนนี้ AEC มีดีลในมือให้บริหารอีกหลายหมื่นล้านบาทปีนี้ เล็งจัดตั้งกองทุน REIT-ไอพีโอ 4 บริษัท และพร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียนด้านการลงทุนทั้งภายใน และต่างประเทศ
นายประพล มิลินทจินดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ประสบความสำเร็จในการดึง 2 บริษัทชั้นนำของประเทศเข้าร่วมเจรจาในการร่วมลงทุน เพื่อดำเนินธุรกิจก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการพลังงานทดแทน (กังหันลม) มูลค่าลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท
“การเข้าร่วมเจรจาในการร่วมลงทุนโครงการพลังงานทดแทนของทั้ง 2 บริษัทชั้นนำ ถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญ และเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ในเบื้องต้นของบริษัทที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยใช้แผนการพัฒนา และต่อยอดแบบครบวงจร ด้วยกลยุทธ์การเชื่อมต่อกับ “พันธมิตรทางธุรกิจ” ในการรุกขยายงานทุกด้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และล่าสุด ได้ใบอนุญาตครบวงจร ซึ่งจะสามารถทำธุรกิจบริหารกองทุน รวมถึงธุรกิจร่วมลงทุน (Joint Venture) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยจะทำให้การดำเนินงานของ บล.เออีซี มีความครอบคลุมทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น และยังเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัทในอนาคต อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะบุกตลาดต่างประเทศ โดยในเบื้องต้นวางแผนที่จะรุกสู่กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียน ตามแผนนโยบายของบริษัท”
นายประพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน บล.เออีซี มีหลายโครงการที่จะเข้าไปดูแล คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท มีทั้งการรับเป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาฟื้นฟูปรับโครงสร้าง และการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดับชั้นนำของประเทศ ที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) โดยขณะนี้เริ่มมีดีลในมือแล้วประมาณ 4 บริษัท
คาดว่าในปีนี้จะสามารถนำหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อย่างน้อย 2 บริษัท มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหรรมก่อสร้าง และกลุ่มอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานที่ปรึกษาจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts : REIT) 2-3 โครงการ มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง บล.เออีซี จึงมีแผนงานที่จะขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค โดยที่ผ่านมา ได้เปิดสาขาไปแล้วทั้งสิ้น 5 สาขา ได้แก่ สาขานครสวรรค์, สาขาสีลม, สาขาเชียงใหม่-ถนนมหิดล, สาขาซอยศูนย์วิจัย และสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว และเตรียมเปิดสาขาเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในไตรมาสแรกนี้จะมีสาขารวมเป็น 9 สาขา ซึ่งลักษณะการให้บริการของแต่ละสาขาจะเน้นงานบริการเหมือนสำนักงานใหญ่ โดยเฉพาะด้านที่ปรึกษาการลงทุนกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เป็นต้น พร้อมกันนี้ บล.เออีซี วางเป้าหมายครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย (Market share) ด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ อยู่ในอันดับ TOP5 ภายใน 3 ปีข้างหน้า
“บล.เออีซี พร้อมส่งเสริมนักลงทุนทั้งคนรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าที่อยู่ในตลาดทุน ให้มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต พร้อมสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือ SME ในการหาแหล่งเงินทุน หรือการจัดตั้งกองทุน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ และสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเป็นฐานรากที่สำคัญของประเทศต่อไป”
เขากล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องการเพิ่มทุนของ บล.เออีซีว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนไม่เกิน 487,633,408 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 487,633,408 หุ้น ซึ่งการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right offering : RO) จำนวน 168,816,704 หุ้น ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ (เศษของหุ้นให้ปัดทิ้ง) ควบกับ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ (AEC-W2) โดยเสนอขายหุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 1 บาท พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิ (AEC-W2) ในราคาหน่วยละ 0 บาท (ฟรี) อายุ 3 ปี อัตราส่วนการแปลงสภาพหุ้น 1 ต่อ 1 ราคาแปลงสภาพ หุ้นละ 2 บาท โดยในวันที่ 4 มีนาคมนี้ จะเป็นวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR (ไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน) ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และช่วยสนับสนุนการเติบโตตามแผนธุรกิจของบริษัทฯ
โดยทุนของบริษัทฯ ที่เพิ่มขึ้นจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ทำให้มีความสามารถในการสร้างรายได้ และกำไรให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคต ดังนั้น ผู้ถือหุ้นที่ต้องการได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนต้องถือหุ้น AEC เอาไว้ในพอร์ตจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2557 (Record date) |
|
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th
ดูทั้งหมด
217
views
Credit : manager.co.th