'เมียนมา แอร์เวย์ส' ผงาดอาเซียน 

"เมียนมา แอร์เวย์ส" ร่วมกับ "จีอีแคส" พัฒนาสายการบินและขยายเส้นทาง

"เมียนมา แอร์เวย์ส" ร่วมกับ "จีอีแคส" พัฒนาสายการบินและขยายเส้นทาง

สายการบินแห่งชาติพม่า "เมียนมา แอร์เวย์ส" ได้ลงนามในข้อตกลงกับ "เจนเนอรัล อิเล็กทริค แคปิตัล อะวิเอเชั่น เซอร์วิส" (จีอีแคส) เช่าเครื่องบินพาณิชย์ 10 ลำ และว่าจ้างอาเวียโซลูชันส์ บริษัทที่ปรึกษาในเครือจีอีแคส เข้ามาช่วยจัดวางระบบกลยุทธ์ เพื่อให้สายการบินเติบโตขึ้นมา

หน่วยงานให้เช่าเครื่องบิน ในเครือเจนเนอรัล อิเล็กทริค (จีอี) กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ จะทำหน้าจัดหาเครื่องบินลำตัวแคบของโบอิงจำนวน 10 ลำให้กับเมียนมา แอร์เวย์ส โดยมีกำหนดส่งมอบเครื่องบิน ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2558 เป็นต้นไป ซึ่งสัญญามูลค่า 960 ล้านดอลลาร์นี้ ครอบคลุมถึงเครื่องบินโบอิง 737-800 จำนวน 6 ลำ และ โบอิง 737-8 แม็กซ์ อีก 4 ลำ ทั้งหมดต้องส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในปี 2563

การทำข้อตกลงที่งาน "สิงคโปร์ แอร์โชว์ 2014" ในสิงคโปร์ มีนายเนียน ตัน อ่อง รัฐมนตรีคมนาคมพม่า นายถั่น ตัน กรรมการผู้จัดการเมียนมา แอร์เวย์ส รวมถึง ผู้บริหารของจีเอีเข้าร่วมในพิธีด้วย ซึ่งนายถั่น ตัน ระบุว่า เมียนมา แอร์เวย์ส รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมงานกับจีอีแคส เพื่อพัฒนา และยกระดับฝูงบิน และขยายเส้นทางไปยังตลาดสำคัญๆ ในภูมิภาค

"ความร่วมมือระหว่างเรากับบริษัทข้ามชาติชั้นนำของสหรัฐ อย่าง จีอี จะเอื้อประโยชน์ให้กับสายการบิน และเศรษฐกิจพม่า" นายถั่น ตัน ระบุ โดยในปัจจุบัน จีอีแคสได้จัดหาเครื่องบินเอมเบรเออร์ อี 190 ให้สายการบินแห่งชาติพม่ารายนี้เช่าอยู่แล้ว 2 ลำ

==> จีอีแคสหนุนการบินพม่าแจ้งเกิด

จีอีแคส ซึ่งเป็นบริษัทให้เช่าเครื่องบิน และบริการการเงินในเครือจีอี เป็นเจ้าของ และให้บริการเครื่องบินมากกว่า 1,670 ลำ มีลูกค้ามากกว่า 230 รายทั่วโลก ซึ่งในการทำข้อตกลงดังล่าว จีอี ระบุว่า อาเวียโซลูชนส์ จะทำงานร่วมกับผู้บิรหารระดับสูงของสายการบินพม่า เพื่อจัดวางแผนดำเนินงาน รวมถึง การขยายเส้นทางระหว่างประเทศ โดยใช้เครื่องบินใหม่ของโบอิงที่เช่ามา เพื่อให้บริการนักเดินทางเพื่อธุรกิจ และการท่องเที่ยว

สำหรับเมียนมา แอร์เวย์ส นั้น ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2491 โดยใช้ชื่อเริ่มแรกว่า ยูเนียน ออฟ เบอร์มา แอร์เวย์ส ปัจจุบันให้บริการในทุกเส้นทางหลักภายในประเทศ จากฐานบินหลักที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง แต่ไม่ได้ให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศแต่อย่างใด

"เรารู้สึกยินดีที่ได้สนับสนุนการทำงานของสายการบินแห่งชาติรายนี้ ในช่วงเวลาของการเติบโต ทั้งของประเทศ และของสายการบิน ถือเป็นโครงการที่น่าตื่นเต้นมาก และจะช่วยยกระดับความเชี่ยวชาญของเรา ทั้งในเรื่องสนามบิน และสายการบิน" นายจอห์น คาร์เตอร์ กรรมการผู้จัดการอาเวียโซลูชันส์ แถลง

ทางด้านนายเดเรก มิตเชลล์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำพม่า ที่เข้าร่วมเป็นพยานในการลงนามข้อตกลงดังกล่าว ระบุว่า ครั้งนี้ถือเป็นการขายสินค้าเชิงพาณิชย์ครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทอเมริกันให้แก่พม่าในรอบหลายสิบปี ช่วงนี้เป็นเวลาที่สำคัญสำหรับทั้งสองประเทศ

==> เล็งเปิดบินญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

ส่วนนายเนียน รัฐมนตรีคมนาคมพม่า กล่าวว่า เครื่องบินโบอิงรุ่นใหม่จะถูกนำไปใช้ขยายเส้นทางบินไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พร้อมเสริมว่าอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร ทั้งในและระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่พม่าเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเมื่อปี 2554 ทำให้สายการบินต้องขยายบริการ

นายเนียน กล่าวว่า การเช่าเครื่องบิน 10 ลำจะช่วยหนุนนำการปฏิรูปเมียนมาแอร์เวย์สได้อย่างมาก รวมถึงแผนการของรัฐบาลในการพัฒนาภาคคมนาคมของประเทศ

ในงานแสดงแสนยานุภาพของอุตสาหกรรมการบินครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่เพียงเมียนมา แอร์เวย์สเท่านั้นที่เป็นข่าวใหญ่ เพราะสายการบินจากตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ในเอเชียยังสร้างความฮือฮา จากการทำข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ กับผู้ผลิตเครื่องบิน เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิภาค ในฐานะแรงขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโลก

==> การบินในย่านเอเชียคึกคัก

สายการบินเอเชียที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก 4 ราย ได้ทำข้อตกลงมูลค่ารวมกันมากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ เดินทางมาได้เพียงแค่ครึ่งทางเท่านั้น โดยมีจุดสนใจอยู่ที่เครื่องบินขนาดเล็ก

เหล่าผู้บริหารสายการบิน ระบุว่า เมืองขนาดเล็กจำนวนมากในเอเชีย ยังไม่ได้รับบริการการบินอย่างเต็มที่ แม้จะอยู่ในภาวะเฟื่องฟูอย่างมากของสายการบินต้นทุนต่ำก็ตาม และพวกเขาก็จะใช้เครื่องบินใหม่ เป็นตัวเชื่อมจุดหมายปลายทางขนาดเล็กนี้ เข้ากับบรรดามหานครต่างๆ

นายซ่ง เส็ง วุน นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค จากซีไอเอ็มบี ธนาคารมาเลเซีย ระบุว่า ชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวของเอเชีย จะเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการ

ข้อตกลงที่เกิดขึ้นล่าสุด คือ กรณีของสายการบินแอร์ คอสตา ของอินเดีย ที่สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นอี-2 จากเอมเบรเออร์ ผู้ผลิตบราซิล จำนวน 50 ลำ แต่ละลำรองรับผู้โดยสารได้ราว 70-130 ที่นั่ง มูลค่าราว 2,940 ล้านดอลลาร์

ข้อตกลงของแอร์ คอสตา ที่เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการเมื่อ 4 เดือนก่อน ยังรวมถึง สิทธิในการซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 50 ลำ

ก่อนหน้านั้น สายการบินทุนต่ำของไทย "นก แอร์" เพิ่งยืนยันคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น คิว 400 ขนาด 86 ที่นั่งจำนวน 2 ลำ จากบอมบาเดียร์ ผู้ผลิตสัญชาติแคนาดา มูลค่า 63 ล้านดอลลาร์ พร้อมส่งสัญญาณว่า อาจซื้อเพิ่มอีก 6 ลำ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น

นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนก แอร์ ระบุว่า สายการบินของเขา กำลังมองหาลู่ทางที่จะขยายบริการเข้าไปในพม่า ที่เปิดประเทศแล้ว โดยเขามองว่า พม่าเป็นประเทศที่สวยงาม และมีศักยภาพสูง ที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว

"ผมมั่นใจว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเห็นพม่าขยายตัวอย่างรวดเร็ว เทียบเท่ากับเวียดนาม" นายพาที กล่าว

==> ซีไอเอ็มบีย้ำความต้องการเดินทางสูง

ทางด้านนายซ่ง จากซีไอเอ็มบี แสดงความเห็นว่า ตลาดใหม่ๆ อย่างพม่า ถือเป็น "โบนัส" พิเศษ ซึ่งแม้จะไม่มีตลาดใหม่ แต่ความต้องการเดินทางในเอเชียก็ยังคงแข็งแกร่งอยู่

สายการบินที่ทำข้อตกลงในงานนี้ ยังรวมถึง เวียดเจ็ท แอร์ สายการบินทุนต่ำของเวียดนาม ที่เป็นเจ้าแรกในการทำข้อตกลงซื้อเครื่องบินใหม่ ในงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเวียดเจ็ท เลือกซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ320 จำนวน 63 ลำ มูลค่า 6,400 ล้านดอลลาร์ ผ่านการทำข้อตกลงที่ครอบคลุมถึงสิทธิในการซื้อ หรือเช่าเครื่องบินรุ่นเดียวันนี้ได้อีก 38 ลำ ซึ่งจะช่วยขยายฝูงบินของเวียดเจ็ทให้มีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 10 เท่า

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

310

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน