“พาณิชย์” ตั้งอนุกรรมการทบทวนบัญชีธุรกิจที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาทำได้
|
“พาณิชย์” ตั้งอนุกรรมการปรับปรุงบัญชีแนบท้ายกฎหมายต่างด้าว เล็งรื้อบัญชีต้องห้ามเปิดให้คนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ แย้มปลดธุรกิจที่คนไทยแข่งขันได้ และธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานอื่น หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ยันเปิดเสรี FTA ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เหตุมีข้อยกเว้นให้อยู่แล้ว จับตาเปิด AEC หวั่นนักลงทุนต่างชาติสวมสิทธิอาเซียนเข้ามาลงทุน เตรียมมาตรการรับมือทันควัน
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อทำการพิจารณาว่าจะปรับธุรกิจในบัญชีแนบท้ายอะไรบ้างออกจากบัญชีสงวน โดยมีหลักในการพิจารณา คือ ธุรกิจที่จะตัดออกและให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจได้จะต้องไม่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจดั้งเดิมของคนไทย เป็นธุรกิจที่คนไทยแข่งขันได้แล้ว หรือเป็นธุรกิจที่ปกติคนต่างชาติจะได้รับการอนุญาตให้เข้ามาประกอบธุรกิจได้อยู่แล้ว เช่น ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ การนิคมอุตสาหกรรม และคู่สัญญาของรัฐและรัฐวิสาหกิจ
“กรมฯ กำลังพิจารณาดูว่าอะไรที่เป็นงานรูทีน หรือเป็นงานที่กรมฯ ต้องให้อยู่แล้ว ก็อาจจะพิจารณาดึงให้ธุรกิจนั้นๆ ออกจากบัญชีสงวนแนบท้ายบัญชี 3 ของ พ.ร.บ.ต่างด้าว เพราะแม้กรมฯ จะบังคับให้ต้องมาขออนุญาตก่อน แต่ในทางปฏิบัติธุรกิจที่คนต่างชาติเข้าผ่านช่องทางที่มีหน่วยงานอื่นดูแลเขาก็ได้รับการอนุญาตอยู่แล้ว การให้มาขออนุญาตอีกก็จะเป็นการซ้ำซ้อน ซึ่งกรมฯ กำลังดูอยู่ว่ามีธุรกิจอะไรที่จะดึงออกได้บ้าง”
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า กรณีการเปิดเสรี FTA ที่มีข้อกังวลว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพื่อให้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้นเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น กรมฯ ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพราะภายใต้กฎหมายมีข้อยกเว้นให้อยู่แล้ว หากการเปิด FTA กำหนดเงื่อนไขในเรื่องการถือหุ้นไว้อย่างไรก็สามารถปฏิบัติตามได้
ทั้งนี้ กรมฯ มีความเป็นห่วงว่า กรณีการเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียนที่กำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีในด้านการค้า การค้าบริการ การลงทุน เพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของคนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอาเซียนควรจะได้รับสิทธิเหมือนนักลงทุนอาเซียนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องมีการหารือกันและต้องมีข้อสรุปก่อนที่จะเปิด AEC เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้คนต่างชาติเข้ามาใช้สิทธิของอาเซียนได้ ถือว่าไม่ถูกต้อง โดยในส่วนของกรมฯ ได้มีการศึกษาแนวทางการรับมือกับปัญหาในเรื่องนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย หากเป็นการทำธุรกิจในบัญชีสงวนจะต้องขออนุญาตทั้งหมด แต่ได้มีข้อยกเว้น หากเป็นการทำธุรกิจที่ได้รับสิทธิตามสนธิสัญญาไทย-สหรัฐฯ การใช้สิทธิตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน รวมถึงการได้รับสิทธิการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอและการนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งคนต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงเหล่านี้ก็สามารถเข้ามาทำได้
ทั้งนี้ การออกหนังสือรับรองให้ธุรกิจของคนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยภายใต้ข้อตกลงข้างต้น ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2543 ถึง 31 ม.ค. 2557 มีจำนวนรวม 3,443 ราย แยกเป็นธุรกิจบริการ เช่น ให้เช่าทรัพย์สิน รับจ้างผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ติดตั้ง ทดสอบและซ่อมบำรุงรักษาสินค้า 1,746 ราย ค้าปลีกค้าส่ง 896 ราย ก่อสร้างและบริการทางวิศวกรรม 373 ราย นายหน้าตัวแทน 149 ราย บริการทางบัญชีและกฎหมาย 53 ราย และอื่นๆ เช่น บริการทางสถาปัตยกรรม การทำกิจการโฆษณา การทำกิจการโรงแรม การนำเที่ยว การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม 226 ราย |
|
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th
ดูทั้งหมด
214
views
Credit : manager.co.th