งาน เกษตรและของดีเมืองอ่างทอง 2

งาน “เกษตรและของดีเมืองอ

 

 

หากมองด้วยสายตานานาชาติ ประเทศไทยก็คงเปรียบเสมือนกับ “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของประชาชนทั้งโลก เพราะด้วยความที่เป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังทั่วโลกปีละมากมายมหาศาล

 

 

แต่หากหันกลับมาถามว่า แล้ว “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของคนไทยล่ะ อยู่ที่ไหน? เชื่อได้ว่า หนึ่งในคำตอบที่ตามมา คงหนีไม่พ้นชื่อของ “จ.อ่างทอง” เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศแล้ว ยังถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ อาทิ อ้อย กล้วยน้ำว้า มะม่วง ส้มโอ ฝรั่ง พืชผัก ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ปลาเนื้ออ่อน และกุ้งก้ามกราม ที่ป้อนให้กับคนไทยไปทั่วประเทศอีกด้วย

นางจิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญของ จ.อ่างทอง ในฐานะเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความหลากหลาย จึงได้ร่วมมือกับ จังหวัดอ่างทอง และภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดอ่างทอง และชมรมธนาคารจังหวัดอ่างทอง จัดงาน “เกษตรและของดีเมืองอ่างทอง’2” ขึ้นในระหว่างวันที่ 29 มกราคม-9 กุมภาพันธ์ ที่วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ แก่สาธารณชน หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดงานครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา

โดยการจัดงานครั้งนี้กำหนดขึ้นภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรมจากธรรมชาติ : สร้างสมดุลชีวิต สร้างอนาคตยั่งยืน” เน้นให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการเกษตรซึ่งเป็นนวัตกรรมจากธรรมชาติ ผู้เข้าชมจะได้พบ “Green Agriculture City” หรือ “เมืองเกษตรสีเขียว” ที่อลังการด้วยอุโมงค์ผักในรูปทรงต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการที่มีชีวิต

ขณะที่รูปแบบการจัดนิทรรศการภายในงาน จะเป็นการเรียงร้อยทุกสาระให้เข้ากันเป็นหนึ่งเดียว ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 “Flagship Seed Hub” การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจัดแสดงในรูปของอุโมงค์พืชพันธุ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยอุโมงค์ทรง โดมคู่ ส่วนที่ 2 “ชมพืชในฝัน มหัศจรรย์ที่อ่างทอง” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง กรมส่งเสริมการเกษตร นำเสนอความรู้ด้านเพาะปลูกครบวงจร มีไฮไลท์เป็นโดมผักขนาดใหญ่พร้อมแปลงผักนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ผัก 100 เมตร ที่อุดมด้วยพรรณไม้เลื้อยถึง 2 อุโมงค์

ส่วนที่ 3 “พระบิดาแห่งฝนหลวง…ปวงปราชญ์แห่งแผ่นดิน” โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งใช้เล่าเรื่องด้วย Rainmaking Story ตั้งแต่ฝนหลวงหยาดแรกจนถึงความสำเร็จในการช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนที่ 4 “น้ำ…สร้างชีวิต” จากกรมชลประทาน โดยจำลองเส้นทางน้ำจาก ปิง วัง ยม น่าน ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เห็นถึงแนวทางการจัดการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และการแบ่งปันน้ำเพื่อการเกษตรในภาคกลางทั้งระบบ

ส่วนที่ 5 “การกำหนดเขตความเหมาะสม (Zoning) สำหรับการปลูกข้าว” โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีการจำลองแผนที่จังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท แสดงเขตเหมาะสมต่อการปลูกพืชโดยเฉพาะข้าว การเลี้ยงสัตว์ และการประมง ส่วนที่ 6 “ปศุสัตว์ปลอดโรค ชีวิตปลอดภัย” โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทอง กรมปศุสัตว์ จัดแสดงเขตเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงแต่ละประเภท (Zoning) และมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ครบวงจร ส่วนที่ 7 “ระบบมาตรฐาน ระบบอาหารปลอดภัย” โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย (มกอช.) ซึ่งจะนำผู้ชมงานรู้จักกับยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าเกษตรและคุณภาพรายสินค้า พืช ประมง ปศุสัตว์ ให้ได้มาตรฐาน GAP

ส่วนที่ 8 “บัญชีดี ชีวิตมีสุข” โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดให้บริการสอนแนะการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุน ส่วนที่ 9 “เกษตรพอเพียง หนึ่งงานอยู่ได้ หนึ่งไร่ไม่จน” โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะให้ความรู้แนวคิดการทำการเกษตรอย่างไรให้สำเร็จในพื้นที่ขนาดเล็ก

ส่วนที่ 10 “เมล็ดข้าว เมล็ดชีวิต” โดยกรมการข้าว ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงเขตศักยภาพการผลิตของประเทศ การลดต้นทุนการผลิตและลดความเสี่ยง ส่วนที่ 11 “ประมงไทยก้าวไกล” โดยกรมประมง จัดแสดงพันธุ์ปลาสวยงาม ปลาท้องถิ่นหายาก และสัตว์น้ำเศรษฐกิจในลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนที่ 12 “Zoning เตรียมสินค้าเกษตรไทยสู่อาเซียน” โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ให้ความรู้เรื่องการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการผลิตแก่เกษตรกร และส่วนที่ 13 “สหกรณ์ไทยมุ่งมั่นสานต่องานที่พ่อทำ” โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ นำเสนอนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชกรณียกิจด้านสหกรณ์

“ทุกหน่วยงานจะนำเสนอผลงานและองค์ความรู้ทั้งเรื่องดิน น้ำ การประมง ปศุสัตว์ พืชพรรณ พันธุ์ข้าว ไม้ผล และโดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือ Zoning เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ของแต่ละถิ่น จุดคุ้มทุนก่อนจะลงทุน การพลิกแนวทางในการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าของผลิตผล เช่น การทำเกษตรกรรมในแนว Green Agriculture City เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและชีวิต ประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางจิราวรรณ กล่าว

ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้นอกจากจะต้องการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรสู่สาธารณะ อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ยังต้องการนำเสนอของดีเมืองอ่างทองทั้งด้านเกษตร การประมง การปศุสัตว์ การผลิตสินค้าพื้นบ้าน เพื่อเปิดช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกร กลุ่ม และชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ โดยผู้ที่มาเยี่ยมชมงาน จะมีโอกาสได้จับจ่ายสินค้าคุณภาพคัดสรรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP ที่ร่วมกันนำผลิตภัณฑ์กว่า 1,000 รายการ 100 ร้านค้า มานำเสนอ รวมทั้งยังมีตลาดต้นไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศที่มีทั้งพรรณไม้หายาก พรรณไม้ต้นแบบ พรรณไม้สวยงาม ไม้ผลไม้ดอกมาให้เลือกชมเลือกซื้อด้วย

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมงาน “เกษตรและของดีเมืองอ่างทอง’2” ระหว่างวันที่ 29 มกราคม-9 กุมภาพันธ์ ที่วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ให้ได้ เพราะหากพลาดโอกาสครั้งนี้ ก็อาจต้องรอไปอีกนาน



เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก banmuang.co.th

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aectourismthai ดูทั้งหมด

793

views
Credit : aectourismthai


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน