การลงทุนในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
นักธุรกิจต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่าทำธุรกิจอะไร และธุรกิจของตัวเองอยู่ในระยะไหนแล้ว จากนั้นจึงได้แจกแจงว่า ประเทศกลุ่มอาเซียนแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1 กลุ่มที่เศรษฐกิจเติบโต โดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนใหญ่ส่งออกเป็นวัตถุดิบ เช่น เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น
2 กลุ่มที่เติบโตโดยการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ มีการเพิ่มมูลค่าลงไป เช่น ไทย และมาเลเซีย และ
3. กลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ และบรูไน
สำหรับวันนี้จะวิเคราะห์ ตลาดอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นตลาดที่ไม่ไปไม่ได้เพราะเป็นตลาดใหญ่เลยทีเดีย มีประชากรรวมกันมากถึง 245 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียนเลยทีเดียว
อินโดนีเซียนั้นมีจุดแข็งหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นฐานผู้บริโภคและแรงงานจำนวนมาก ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมระหว่าง 2 ภาคพื้นทวีป คือ อาเซียนกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทำให้อินโดนีเซียมีความได้เปรียบด้านการส่งสินค้าเข้าออกระหว่าง 2 ภูมิภาคใหญ่ แต่ก็มีจุดอ่อนที่เห็นชัด คือ ระบบราชการ โดยการติดต่องานราชการต้องใช้เวลานานมาก เช่น ตั้งบริษัทใหม่ต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1-1.5 เดือนเทียบกับไทยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
อีกทั้ง มีการเปลี่ยนแปลงกฎการลงทุนบ่อย มีความเป็นชาตินิยมสูง รัฐบาลพยายามปกป้องธุรกิจท้องถิ่นด้วยการออกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงกฎการถือหุ้นในธุรกิจต่างๆ ตลาดอินโดนีเซียเหมาะสำหรับการลงทุนด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เรื่องของ อาหาร เครื่องดื่มที่ไทยสามารถส่งออกไปขายได้ เพราะมีฐานผู้บริโภคมหาศาลทีเดียว ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ สามารถเข้าไปตั้งโรงงานผลิตได้เช่นกันนะครับ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสลงทุนด้านโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ตลอดจนการเพาะปลูกปาล์ม ยางพาราและสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรได้อีกด้วย
สำหรับฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ตลาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรสูงถึง 100 ล้านคน ฟิลิปปินส์เป็นสังคมบริโภคนิยมคนมีเงินจับจ่ายใช้สอย นิสัยชอบสังสรรค์ เศรษฐกิจก็เติบโตดีมากขึ้นตลอดเวลา
แต่อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์ยังมีจุดอ่อนในหลายด้านเนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้จ่ายเกินตัวมากไป ทำให้มีการขาดดุลงบประมาณสูงมาก ๆ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังเสถียรภาพการคลังของประเทศ นอกจากนี้ยังมีอัตราการว่างงานสูง โครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ กฎระเบียบในประเทศมีความเข้มงวดและเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ทั้งนี้เงื่อนไขทางการเมืองและการปกครองทำให้การพัฒนาของฟิลิปปินส์ยังไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควร และยังต้องเดินหน้าอีกมาก สำหรับธุรกิจที่เหมาะเข้าไปลงทุน คือธุรกิจทางด้านบริการ เพราะชาวฟิลิปปินส์พูดภาษาอังกฤษได้ดี ประกอบกับต้นทุนค่าจ้างแรงงานก็ไม่สูงนัก
ที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติจำนวนมากเข้าไปตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ที่นี่ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสลงทุนในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากฟิลิปปินส์เหมือนกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเร่งพัฒนา ระบบสาธารณูปโภค ส่วนธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ก็มีโอกาสสดใสเหมือนกัน เพราะชาวตากาล็อกมีกำลังซื้อสูงพอสมควร แม้ตอนนี้นักลงทุนจากไทยอาจไม่ได้สนใจฟิลิปปินส์มากนัก แต่เชื่อว่าฟิลิปปินส์จะเป็น “ม้ามืดที่มาแรง” หลังจากการเมืองนิ่งและแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้สำเร็จแล้ว
ที่มา AEC-FOCUS.com