ชื่อ "Burma" และ"Myanmar" ในประชาคมอาเซียน


พม่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประชาคมอาเซียน เห็นได้ชัดจากการรับเป็นเจ้าภาพซีเกมส์  ในปี 2013  การรับเป็นประธานอาเซียน ในปี 2014 และเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)  ในปี 2015  แต่ปัจจุบันหลายองค์กร  หน่วยงาน และวงการสื่อ ยังสับสนในเวลาใช้คำสองคำนี้  เช่น ควรใช้ ประเทศพม่า หรือ ประเทศเมียนมาร์  ดังนี้แล้วทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความเป็นมาของการใช้ ชื่อ Burma และ Myanmar

สังคมไทยคุ้นเคยกับการเรียกว่า คนพม่าและประเทศพม่า มากกว่า คนเมียนมาร์และประเทศเมียนมาร์  ดังนั้นคำที่ควรอธิบายก่อนคือ คำว่า Burma เป็นคำที่ปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์มอญ ซึ่งพวกมอญเรียกพม่าว่า Bama (สำเนียงมอญว่า เปียะ-เมีย)  และคนไทยคงจะเรียกชื่อชนชาตินี้ตามคนมอญโดยปรับเสียงให้สะดวกปากคนไทยว่า พม่า  คำว่า Burma มาจากคำภาษาพม่าว่า Bama (บะหม่า) เป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของคำว่า Myanma  และเป็นคำที่ใช้แพร่หลายในยุคที่อังกฤษปกครองพม่าเป็นอาณานิคม ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19  และอังกฤษได้เปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองของพม่าจากสำเนียงภาษาพื้นเมืองให้เป็นสำเนียงภาษาอังกฤษ เช่น Yangon (หย่านโก่ง) เขียนเป็น Rangoon, Pyi (ปยี่) เขียนเป็น Prome  และ Muttama (โม๊ะตะมะ) เขียนเป็น Martaban  แต่ชาวพม่าไม่นิยมใช้คำที่อังกฤษได้เปลี่ยนใหม่นี้ยังคงใช้คำพม่าตามเดิม

แม้ว่าในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่า ได้กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ  กระนั้นชาวพม่ายังคงเรียกและตอบชื่อประเทศตัวเองว่า  Myanma Pyi  และเช่นเดียวกัน ก็ยังคงเรียกและตอบชื่อเมืองหลวงเป็นสำเนียงพื้นเมืองว่า Yangon  มิใช่ Rangoon

ส่วนการใช้คำว่า Myanmar  ศัพท์คำนี้ พบในจารึกเก่าแก่และเอกสารราชการในราชสำนักพม่าโบราณ สะกดว่า Mranma และ Myanma  ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ใช้วางประกอบหน้าคำนาม เช่น Myanma Pyi (เมียนมา-ปยี่) หมายถึง ประเทศเมียนมา  Myanma  Saga (เมียนมา-สะกา) หมายถึง ภาษาเมียนมา Myanma Lu Myo(เมียนมา-หลู่-มโย) หมายถึง  คนเมียนมา แต่หากใช้คำว่า Mranma และ Myanma เป็นคำนาม จะหมายถึง ประเทศ หรือ รัฐ  เช่น ตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษว่า  I am going to Myanmar.

คำว่า Mranma และ Myanma นี้ไม่ได้เป็นคำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เกิดขึ้นในระยะที่รัฐบาลทหารประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ เป็น Myanmar  เมื่อ ค.ศ. 1989  เพื่อใช้แทนชื่อที่เรียกกันก่อนหน้านั้นว่า Burma  ซึ่งชื่อ Burma เป็นชื่อที่ใช้เรียกแทนประเทศนี้ในสื่อสากลและในแวดวงวิชาการโดยทั่วไป  อย่างไรก็ตามเป็นที่ปรากฏชัดเจนในหลักฐานประวัติศาสตร์พม่าว่าใช้คำศัพท์ Mranma หรือ Myanma ในเวลาที่ต้องการหมายความถึงประเทศ หรือ รัฐ มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 (สมัยอาณาจักรพุกาม) แล้ว  และหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่าคำ Burma ซึ่งเป็นคำที่อังกฤษใช้เรียกพม่า เป็นคำใหม่  คือ การเรียกชื่อชนชาตินี้จากเพื่อนบ้าน กล่าวคือ จีน เรียกว่า เมี่ยน, ไทใหญ่และไทยวน (ล้านนา) เรียกว่า ม่าน ซึ่งเป็นคำเดียวกับคำว่า Myan

คำว่า Myan แปลว่า รวดเร็ว และ คำว่า ma แปลว่า แข็งแรง

ในโลกวิชาการและวงการสื่อตะวันตก พบการใช้คำว่า Burman ซึ่งหมายถึงตระกูลภาษาในทางภาษาศาสตร์, การใช้คำว่า Burmese หมายถึงภาษาและประชาชนพม่า,  และการใช้ Myanmar เมื่อต้องการหมายถึงประเทศ/รัฐ  แต่ยังไม่พบการใช้คำว่า Myanmarese

ปัจจุบันพม่าเรียกชื่อประเทศตัวเองว่า Pyi doung zu  Than ma da  Myanma  Naing ngang  Daw    (ปยี่-ด่าวน์-ซุ-ตะมะ-ดะ-เมียนมา-หน่าย หงั่ง-ด่อ)  หรือภาษาอังกฤษว่า Republic of the Union of Myanmar  ภาษาไทยเรียกว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า  ประเด็นคือ ในเวลาที่จะใช้คำเรียกชื่อประเทศนี้ควรใช้คำไหนและเขียนสะกดอย่างไร ชื่อที่ถูกต้องควรเป็นชื่อที่เจ้าของภาษาใช้เรียกตัวเอง นั่นคือ Myanma  ถ้าเขียนสะกดตามแบบภาษาพม่า คือ Myanma  ถอดเป็นภาษาไทยคือ  เมียนมา หากเขียนสะกดตามแบบภาษาอังกฤษ คือ Myanmar  ถอดเป็นภาษาไทยคือ เมียนมาร์

การประกาศเรียกชื่อประเทศตัวเองที่ถูกต้องว่า Myanmar  เป็นความต้องการให้นิยามความเป็นตัวตน มากกว่าการถูกคนอื่นเรียก ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชนชาตินี้เรียกชื่อประเทศ/รัฐ ของตัวเองว่า Myanma มาโดยตลอด  และอีกนัยหนึ่งนั้น คือ ความต้องการที่จะปลดแอกจากอาณานิคมด้วยที่ผ่านมา สังคมไทยยังรู้จักพม่าผ่านคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รู้จักพม่าผ่านพม่ามากนัก ซึ่งในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  ก้าวแรกคือ เราควรรู้จักตัวตนของเขาตามที่เขาอยากจะให้รู้จัก อยากเป็น มากกว่า

เชื่อว่าสังคมไทยคงยังไม่คุ้นชินนักกับคำว่า เมียนมา แต่ก็อาจปรับเปลี่ยนมาใช้และเรียกชื่อตามเจ้าของเสียใหม่ว่า ประเทศเมียนมา,  ภาษาเมียนมา,  คนเมียนมา  เมื่อต้องติดต่อสื่อสารกับคนประเทศนี้  ส่วนคำว่า พม่า  อาจใช้เรียกอย่างลำลอง เหมือนอย่างที่เราเรียกคนยุโรปว่า ฝรั่ง  ก็ได้  เพราะการรู้เขา-รู้เรา เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน  ต่อการคบหาและคบค้ากัน ในประชาคมอาเซียน  ต่อไป

'การประกาศเรียกชื่อประเทศตัวเองที่ถูกต้องว่า Myanmar  เป็นความต้องการให้นิยามความเป็นตัวตน มากกว่าการถูกคนอื่นเรียก'

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 



 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

3591

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน