บทบาทของอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรมในเวทีโลก
บทบาทของอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรมในเวทีโลก โดย อวิรุทธ์ เหมานุรักษ์
บทบาทด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนในสังคมโลกมีความหลากหลาย บทบาทหนึ่งที่อาเซียนดำเนินมาตลอด คือ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ขององค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ดังนี้
บทบาทด้านวัฒนธรรม
ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นสมาชิกองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกาศมรดกโลก ซึ่งอาเซียนมีสถานที่หลายแห่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เช่น บุโรพุทโธที่ประเทศอินโดนีเซีย เมืองหลวงพระบางในประเทศลาว อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในไทย เมืองมะละกาในประเทศมาเลเซีย มรดกทางธรรมชาติ เช่น ห้วยขาแข้งในไทย อุทยานปะการังทางทะเลทุบบาตาฮะในฟิลิปปินส์ และมรดกความทรงจำแห่งโลก เช่น จารึกวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม) เป็นต้น
บทบาทด้านมนุษยธรรม อาเซียนร่วมมือกับองค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในเวียดนาม กัมพูชา ในช่วงสงครามเวียดนามและสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง มอญ ที่อพยพหนีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารพม่า โดยมีค่ายผู้อพยพอยู่ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย
บทบาทด้านการสาธารณสุข
อาเซียนร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ ในการรับมือกับโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ และการพัฒนาสาธารณสุข เช่น การป้องกันโรคไข้หวัดนกระบาด เมื่อ พ.ศ. 2547 การรับมือกับโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรงหรือโรคซาร์ส (SARS) ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เมื่อ พ.ศ. 2546 จนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นเขตระบาดของโรค และการระบาดไปทั่วโลกของไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ ชนิด A 2009 H1H1 เมื่อ พ.ศ. 2552
บทบาทด้านการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น และเกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมจากปัญหาขยะ อากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย ดินเสื่อมโทรม การบุกรุกทำลายป่าไม้ทั้งเพื่อตัดไม้ไปขาย เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่เพาะปลูก หรือสร้างสถานตากอากาศ ทำให้ป่าลดลงอย่างมากและรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อการลดลงและสูญพันธุ์ของจำนวนสัตว์ป่า พืชพันธุ์ต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเกิดปัญหาความแห้งแล้ง น้ำท่วม และดินถล่มตามมา
ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาที่ไร้พรมแดน เมื่อเกิดขึ้นในประเทศหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วย เช่น การเกิดไฟไหม้ป่าที่อินโดนีเซียเป็นประจำทุกปี ทำให้เกิดควันไฟแพร่กระจายปกคลุมทั้งที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของไทย เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน หรือการที่น้ำมันรั่วไหลกลางทะเลหรือที่ชายฝั่งของประเทศหนึ่ง ก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของพื้นที่อื่นด้วย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมของอาเซียน จำแนกได้ ดังนี้
ประเทศ
ปัญหาสิ่งแวดล้อม
อินโดนีเซีย
การทำลายป่า หมอกควันจากไฟไหม้ป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ฟิลิปปินส์
การทำลายป่าไม้ การเกิดมลพิษชายฝั่งทะเล อุทกภัย
บรูไน
การทำลายป่าไม้ การเกิดมลพิษชายฝั่งทะเล อุทกภัย
มาเลเซีย
การทำลายป่าไม้ การเผาป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน
สิงคโปร์
การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาขยะ
ไทย
การทำลายป่าไม้ การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ลาว
การทำลายป่าไม้ การถางป่าทำไร่เลื่อนลอย การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
กัมพูชา
การทำลายป่าไม้ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เวียดนาม
การทำลายป่าไม้ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
พม่า
การทำลายป่าไม้ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
จะเห็นได้ว่า ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียน คือ ป่าไม้ถูกทำลาย การลักลอบตัดไม้เพื่อจำหน่าย เพื่อเพาะปลูก และการเผาป่าโดยฝีมือมนุษย์ และไฟไหม้ป่าตามธรรมชาติ ปัญหามลพิษทางอากาศและในแหล่งน้ำในผืนดินก็เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือ การสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน ปัญหาอุทกภัย และปัญหาสุขภาพ ดังนั้น อาเซียนจึงมีบทบาทในด้านการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ดังนี้
บทบาทด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม อาเซียนตระหนักถึงผลเสียของปัญหา จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและสุขอนามัยของภูมิภาคและของโลก โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหน่วยงานที่ร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศนอกกลุ่ม รวมทั้งองค์กรเอกชน การดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ประเทศต่างๆ และประชาชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือในอันที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค
นอกจากนี้ อาเซียนได้ตระหนักถึงปัญหาของการที่ไม่สามารถบังคับให้แต่ละประเทศรักษาสิ่งแวดล้อม และการไม่สามารถลงโทษประเทศอื่นที่ผิดข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะอาเซียนไม่มีอำนาจ แม้แต่ในระดับโลกที่ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 160 ประเทศ ได้ลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Prorocol) ซึ่งเป็นข้อตกลงเพิ่มเติมในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดว่าภายในช่วง พ.ศ. 2551-2555 ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ ลงประมาณร้อยละ 5 ของที่ปล่อยออกมาใน พ.ศ. 2533 แต่บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาก็ไม่ยอมลงนาม และต่อมาแคนาดาก็ได้ถอนตัวจากพิธีสารนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 เพราะเห็นว่าข้อตกลงเป็นอุปสรรคต่อการขยายอุตสาหกรรมของตน
การที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมลงนามและแคนาดาถอนตัวจากข้อตกลง แต่ไม่มีมาตรการลงโทษคว่ำบาตร หรือประท้วงทั้งสองชาตินี้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ปัญหาโลกร้อนย่อมยากที่จะแก้ไข เรื่องนี้จึงเป็นกรณีศึกษาสำหรับอาเซียน เมื่อมีข้อตกลงแล้วชาติสมาชิกไม่ปฏิบัติตามอาเซียนจะมีมาตรการจัดการอย่างไร
บทบาทด้านการรับมือภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของโลกมีความรุนแรงมากขึ้น ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจำนวนมากได้กลายเป็นภัยพิบัติที่ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ภัยพิบัติที่รุนแรงในอาเซียน เช่น เหตุการณ์สึนามิ เมื่อ พ.ศ. 2547 ภัยพิบัติจากพายุนาร์กีสในพม่าเมื่อ พ.ศ. 2551 ภัยพิบัติจากพายุวาชิในฟิลิปปินส์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 อุทกภัยครั้งใหญ่ในไทย เมื่อปลายปี 2554 เป็นต้น
หลายประเทศในอาเซียนต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง เช่น อินโดนีเซีย เผชิญปัญหาแผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์และพม่าเผชิญปัญหาวาตภัยและอุทกภัย ปัจจุบันภัยธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และก่อความเสียหายมหาศาล เป้าหมายหนึ่งของประชาคมอาเซียนด้านสังคม คือ การพัฒนาระบบป้องกันภัยพิบัติ และทำให้ประเทศอาเซียนฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น อาเซียนจึงมีความร่วมมือกันเองภายใน และร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่ม เช่น ญี่ปุ่น ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในการเผชิญและรับมือกับภัยธรรมชาติ รวมทั้งมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และร่วมมือกับสหประชาชาติในด้านการส่งเสริมให้มีระบบการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ เพื่อลดผลกระทบของภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และทำให้ชาติที่เกิดภัยพิบัติสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อาเซียนจึงมีการพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า และการวางแผนรับมือกับภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ เช่น การเตรียมความแข็งแรงของอาคารและสิ่งก่อสร้าง เพื่อรับกับแรงสั่นสะเทือนของแผนดินไหว การเตรียมพร้อมด้านอาหารและยารักษาโรค การเตรียมพร้อมด้านการกู้ภัย การสร้างศูนย์อพยพถาวรในเขตเสี่ยงภัย เป็นต้น
ในขณะนี้ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้พัฒนาระบบเตือนภัย สำหรับไทยได้ตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในพื้นที่เสี่ยง ได้จัดสร้างหอเตือนภัย จัดทำป้ายบอกเส้นทางการหลบหนีหากเกิดคลื่นยักษ์ จัดสร้างศูนย์อพยพในพื้นที่ปลอดภัย และจัดการซ้อมหนีภัยประจำปี รวมทั้งติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และข่าวสารจากประเทศสมาชิกอาเซียนและนอกภูมิภาค เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนอกภูมิภาคก็สามารถส่งผลต่อพื้นที่ในภูมิภาคได้เช่นกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์ผ่านมาหลายปี คือ ประชาชนไม่มั่นใจในระบบเตือนภัยว่าจะใช้ได้ผลจริง เพราะระบบเตือนภัยบางส่วนขัดข้อง เช่น เสียงสัญญาณเตือนภัยไม่ดังหรือดังไม่ทั่วทุกพื้นที่ ตลอดจนประชาชนบางส่วนก็ละเลยการให้ความใส่ใจ และไม่มีความตื่นตัวในการเตรียมป้องกันภัย