การทำงานในประเทศบรูไน


แรงงานต่างชาติในประเทศบรูไนดารุสซาลาม

๑. ภูมิหลัง

ปัจจุบันบรูไนต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมากเนื่องจากบรูไนมีประชากรน้อยและส่วนใหญ่
นิยมทำงานในภาคราชการจึงมีแรงงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภาคเอกชน ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติในบรูไนทั้งสิ้น ๗๙,๘๗๖ คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานจากอินโดนีเซียมากที่สุด ตามด้วย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย บังคลาเทศ และไทย แรงงานไทยในบรูไนมีจำนวน ๓,๒๓๗ คน ส่งรายได้กลับประเทศไทยปีละหลายสิบล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานในกิจการก่อสร้าง อุตสาหกรรมตัดเย็บ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก รวมทั้งภาคธุรกิจบริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร การตกแต่งดูแลดอกไม้ในวังและสถานที่สำคัญ ช่างซ่อม และงานในภาคเกษตรกรรม
 
แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักธุรกิจในบรูไนเพราะมีความซื่อสัตย์ อดทน ขยัน หมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบแม้จะด้อยในเรื่องภาษา อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาอยู่บ้างโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาทิ อัตราค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการทำงาน และการขาดความรู้และความเข้าใจต่อกฎระเบียบข้อบังคับของสัญญาจ้าง
 
๒. มาตรการล่าสุดด้านแรงงานของบรูไน
 
๒.๑ ปัจจุบันบรูไนมีนโยบายส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงาน
ต่างชาติ ดังนั้น การพิจารณาโควตาสำหรับนำเข้าแรงงานต่างชาติจะมีความเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ดีบรูไนยังคงต้องการจ้างแรงงานต่างชาติในบางประเภทงานที่ขาดแคลนแรงงานคนท้องถิ่น เช่น คนงานก่อสร้าง ช่างซ่อมรถยนต์ เป็นต้น
 
๒.๒ ที่ผ่านมาบรูไนไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราค่าจ้างที่แต่ละบริษัทจ่ายแตกต่างกัน
ที่ผ่านมาแรงงานไทยได้รับค่าจ้างเฉลี่ยวันละ ๒๐ ดอลลาร์บรูไน (ประมาณ ๔๘๐ บาท) ในขณะที่แรงงานชาติอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียได้รับค่าจ้างวันละ ๑๕-๑๘ ดอลลาร์บรูไน อย่างไรก็ดี ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติบรูไนสมัยสามัญ ครั้งที่ ๙ ปี ๒๕๕๖ได้มีการอภิปรายว่ากรมแรงงานของบรูไนควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเอกชน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้แรงงานท้องถิ่นทำงานในภาคเอกชนมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาเอกชนต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากและมักประสบปัญหาแรงงานต่างชาติเรียกร้องขอย้ายบริษัทหรือเดินทางกลับประเทศก่อนหมดอายุสัญญาว่าจ้าง
 
๒.๓ รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ทั้งนี้ กรมแรงงานได้มีการเจรจา
กับนายจ้างอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการเพิ่มค่าจ้างแก่พนักงานท้องถิ่น โดยเฉพาะแรงงานท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงานท้องถิ่น (Local Work Agency and Workforce Development: APTK) รวมทั้งเรียกร้องให้นายจ้างบรูไนฝึกอบรมฝีมือแก่ลูกจ้างท้องถิ่นด้วย
 
๒.๔ แรงงานที่เข้ามาทำงานในบรูไนต้องทำงานตรงตามใบอนุญาตจ้างงาน หากทำงานผิดประเภท
จะถือเป็นการละเมิดกฎระเบียบ ปัจจุบันกองตรวจคนเข้าเมืองบรูไนได้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น การลดโควตา การยกเลิกในอนุญาต/ปิดกิจการ รวมทั้งยังตรวจสอบปัญหาสวัสดิการของแรงงานต่างชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกดขี่แรงงานจากนายจ้างด้วย
 
๒.๕ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอให้สัญญาการจ้างแรงงานต่างชาติในภาคแม่บ้านขยายไปเป็น ๓
ปี (จากปัจจุบันที่มีเพียง ๒ ปี) เพราะกระบวนการสรรหาผู้ช่วยแม่บ้านมีค่าใช้จ่ายสูง (อาจสูงถึง ๓,๐๐๐ ดอลลาร์บรูไน) ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว
๒.๖ ไทยและบรูไนกำลังเจรจาจัดทำ MOU ด้านแรงงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านแรงงาน
ระหว่างกัน
 
๓. ผลกระทบต่อแรงงานไทย
 
๓.๑ การที่บรูไนมีนโยบายส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงาน
ต่างชาติอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาให้โควตาสำหรับนำเข้าแรงงานจากประเทศไทย
 
๓.๒ แรงงานไทยยังเสียเปรียบแรงงานจากชาติอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งมีความสามารถ
ในการสื่อสารภาษามลายูและภาษาอังกฤษ
 
๓.๓ แรงงานไทยที่ทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน มีจำนวนเพียง ๘๑ คน ทำให้อาจมีคนไทยที่ได้รับผล
จากมาตรการขยายสัญญาจ้างไม่มากนัก
 
๔. ข้อเสนอแนะสำหรับแรงงานไทย
 
๔.๑ แรงงานไทยควรได้รับการพัฒนาฝีมือและทักษะเพื่อยกระดับให้มีศักยภาพในการแข่งขันและ
ตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานในบรูไน โดยเฉพาะทักษะในการสื่อสารภาษามลายูหรือ
ภาษาอังกฤษ
 
๔.๒ ก่อนเดินทางไปทำงานที่บรูไน แรงงานไทยต้องศึกษารายละเอียดในสัญญาจ้างให้เข้าใจอย่าง
ถี่ถ้วน เพราะหากทำงานผิดประเภทจากสัญญาจ้างจะถือเป็นการละเมิดกฎระเบียบและจะได้รับการลงโทษตามกฎหมาย
 
๔.๓ ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานไทยก่อนเดินทางไปทำงานที่ประเทศบรูไน โดยการ
อบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศบรูไน อาทิ ระบบการปกครอง ศาสนา และกฎหมาย เพื่อให้แรงงานไทยไม่ทำผิดระเบียบแบบแผน และไม่ปฏิบัติการอันเป็นการขัดกฎหมายหรือขนบธรรมเนียมของประเทศบรูไน
 
 
ที่มา : กรมเอเชียตะวันออก
เมษายน ๒๕๕๖



 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

6039

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน