เจาะพฤติกรรมคนไทยยุคดิจิทัล ติดโซเชียลมีเดีย-ใช้เน็ต 32 ชม./สัปดาห์
กรุงเทพมหานครติดอันดับหนึ่งมหานครที่มีคนใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับ 10 กว่าจากจำนวนผู้ใช้กว่า 19 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจที่การเก็บข้อมูลล่าสุดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ "สพธอ." จะพบว่าปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสัปดาห์ละถึง 32 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 12 ปีที่แล้วถึง 76% (ปี 2544)
"สุรางคณา วายุภาพ" ผู้อำนวยการ สพธอ.ระบุว่า สพธอ.ใช้เวลากว่า 2 เดือนในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่กลาง เม.ย.-สิ้น พ.ค.ที่ผ่านมาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 23,907 คน พบว่านอกจากจำนวนชั่วโมงในการใช้งานจะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ยังมีการใช้มากกว่า 20 ชั่วโมงสูงสุดถึง 38.5% จากพัฒนาการของอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเลต รวมถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายที่ครอบคลุมมากขึ้น ที่ยังไม่เปลี่ยนมากนักเป็นช่วงเวลาในการใช้งานที่อยู่ระหว่าง 2 ทุ่ม-เที่ยงคืน แต่น่าสังเกตว่า หลังเที่ยงคืน-8 โมงเช้ามีผู้ใช้น้อยลงอาจมาจากคุณภาพและความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น จึงไม่ต้องเลือกช่วงเวลา และพบอีกว่า 2 ทุ่ม-เที่ยงคืนเป็นช่วงที่เยาวชนอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี ใช้งานสูงถึง 47% และ 54.5% ตามลำดับ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ดูละครทำให้ไม่ใส่ใจเยาวชน จึงอยากฝากให้ผู้ปกครองหันมาดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องและเหมาะสมแก่เยาวชนในช่วงดังกล่าว
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ท่องอินเทอร์เน็ตบ่อยที่สุดยังมาจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือเดสก์ทอป 45% รองลงมาเป็นโน้ตบุ๊ก 25.3% สมาร์ทโฟน 22.7% แท็บเลต 6.8% และอื่น ๆ 0.2% ถ้าโฟกัสเฉพาะอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือ Mobile Device จะแบ่งเป็นสมาร์ทโฟนมากสุด 69.5% โน้ตบุ๊ก 67.9% และแท็บเลต 35.3%
"เชื่อว่าใน 1-2 ปีข้างหน้า อุปกรณ์แบบเคลื่อนที่จะมีอิทธิพลสำคัญอย่างมากในโลกออนไลน์ แม้ปัจจุบันการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเดสก์ทอปพีซียังมากถึง 77.5%"
ส่วนกิจกรรมยอดนิยม 3 อันดับแรก ไม่ต่างจากเดิม เช่น การรับส่งอีเมล์ 54.4% ค้นข้อมูล 52.5% และใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ 33.2% ผู้ใหญ่มักใช้รับส่งอีเมล์แต่เด็กเน้นเล่นเกมออนไลน์และการดาวน์โหลดและพบด้วยว่า 93.8% เคยใช้โซเชียลมีเดีย มีแค่ 6.2% เท่านั้นที่ไม่เคยใช้ ที่มีการใช้มากสุด คือ เฟซบุ๊ก 92.2% กูเกิล พลัส 63.7% และแอปพลิเคชั่นแชต "ไลน์" 61.1% แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสมาร์ทโฟน 33.7% คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 31.6% โน้ตบุ๊ก 24.4%
ถามว่าคนไทยใช้โซเชียลมีเดียเพื่ออะไร พูดคุย 85.7% อัพเดตข้อมูลข่าวสาร 64.6% อัพโหลดแชร์รูปภาพหรือวิดีโอ 60.2% พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้นักการตลาดนิยมนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือทาง
การตลาด โดยเฉพาะ Viral Marketing ซึ่งจะทำได้ต้องรู้จักพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า หากทำสำเร็จจะกลายเป็นจุดแข็งจุดขายที่ทรงพลังมาก แต่ถ้าไม่สำเร็จก็อาจทำลายความเชื่อมั่นของลูกค้าได้เช่นเดียวกัน
"สพธอ." ยังสำรวจพฤติกรรมผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดีย พบว่ามีผู้ที่สนใจใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางธุรกิจเกือบ 50% และเคยซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวด้วย เพราะสะดวกสบาย 76%, ราคาและโปรโมชั่นดีกว่า 45.7% ส่วนผู้ที่ไม่เคยซื้อให้เหตุผลว่า ไม่สามารถจับต้องสินค้าได้ ไม่ไว้ใจผู้ขาย กลัวโดนหลอก มูลค่าสินค้าที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด อยู่ระหว่าง 501-1,000 บาท/ครั้ง ถึง 40.7%
สินค้าที่มาแรง 3 อันดับ คือ แฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า 59%, อุปกรณ์ไอที 34.1% และเครื่องสำอาง 30.5%
"สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี" อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เสริมว่า คนทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องปรับตัวนำโซเชียลมีเดียมาใช้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ธุรกิจนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยแพลตฟอร์มหลัก เนื่องจากการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดียยังไม่ได้แก้ปัญหาการชำระเงิน ดังนั้น เวลามีการสั่งสินค้าจึงอาจเปลี่ยนใจได้
"ทิวา ยอร์ค" กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด กล่าวว่า ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า
แนวโน้มการใช้โซเชียลมีเดียจะเป็นไปทางไหน
บางคนบอกว่าไลน์จะมาแทนเฟซบุ๊ก แต่ตนมองว่าไม่มีทางเพราะการใช้คนละแบบกัน โดยเฟซบุ๊กเป็นการติดต่อเพื่อนเก่า อัพสเตตัส แต่ไลน์เป็นการแชตกันส่วนตัวหรือในกลุ่ม แต่ที่เห็นชัดเจนคือ การใช้
มือถือเปลี่ยนไป จากสถิติการเข้าใช้เว็บไซต์ "ดีลฟิช" ผ่านโทรศัพท์มือถือ ปีที่แล้วมีแค่ 10% แต่เดือนที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 37%
"ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยกล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยโตขึ้นมาก สถิติการเข้าใช้อินสตาแกรมปัจจุบันมีกว่า 8 แสนคน/วัน
มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 19 ล้านราย เป็นเพจในการทำธุรกิจกว่า 3 แสนเพจ และยูทูบกว่า 1.8 ล้านวิดีโอ ทำให้การซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดียมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือการหลอกลวง ฉ้อโกง
ผอ.สพธอ.ทิ้งท้ายด้วยว่า ได้สำรวจการใช้งานโครงการฟรีไวไฟของกระทรวงไอซีที พบว่า มีผู้เคยใช้บริการ 35.3% และไม่เคยใช้ 64.8% กลุ่มที่ไม่เคยใช้เพราะใช้บริการรายอื่นอยู่, ไม่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อ และอยู่นอกพื้นที่ คนเคยใช้กว่า 55.5% มีความพึงพอใจ ทั้งให้ข้อเสนอแนะว่า ควรปรับปรุงด้านความสะดวกสบายในการลงทะเบียนใช้งาน และเพิ่มระยะเวลาการใช้งาน
"รัฐบาลช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งแจกแท็บเลต สร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ไอซีทีชุมชน ฟรีไวไฟ คาดว่า ปี 2558 ประชาชนจะใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ครอบคลุมกว่า 80% และในปี 2563 มากกว่า 95% ทำให้ประชาชนตื่นตัวและสะดวกสบายในการใช้งาน ยกระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ