ไทยพบพันธุ์ไม้ใหม่ของโลก3ชนิด
นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์การอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ได้ค้นพบไม้พันธุ์ใหม่ของโลก 3 ชนิด คือ กะเพราตะนาวศรี กล้วยไม้ไร้ใบเบตง และว่านแผ่นดินเย็นเขาใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตีพิมพ์ตามกระบวนการทางพฤกษศาสตร์แล้ว
ว่านแผ่นดินเย็นเขาใหญ่
ว่านแผ่นดินเย็น หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ว่านพระฉิม เป็นกล้วยไม้ดินในสกุล Nervilia ซึ่งดอกกับใบจะออกไม่พร้อมกันระยะ ที่พบใบจะไม่พบดอก หรือระยะที่พบดอกจะ ไม่พบใบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ ถูกค้นพบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ ลักษณะของกล้วยไม้ชนิดนี้ ใบและดอกออกไม่พร้อมกัน หัวใต้ดินรูปเกือบกลม ใบสีเขียว หรือสีม่วงกว้างและยาว 5-7 เซนติเมตร ช่อดอกยาวได้ถึงเกือบ 1 เซนติเมตร มี 1 ดอก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีน้ำตาล ยาวได้เกือบ 2 เซนติเมตร กลีบดอกรูปรีถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปแถบกลีบปากสีขาวรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานยาว 1.5-2 เซนติเมตร พบขึ้นประปรายบริเวณป่าดิบชื้น ระหว่างเส้นทางไปน้ำตกผากล้วยไม้ ออกดอกประมาณเดือน มี.ค. ออกใบประมาณเดือน มี.ค.–ก.ย. จากนั้นนักวิจัยใช้เวลาศึกษาร่วม 2 ปี จึงทราบว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกและได้ตีพิมพ์ตามกระบวนการทางพฤกษศาสตร์ โดยให้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Nerviliakhaoyaica Suddee, Watthana & S. W. Gale และยังตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Kew Bulletin ของสวนพฤกษศาสตร์คิวกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เล่มที่ 68 ปี 2013 และได้ให้ชื่อไทยว่า ว่านแผ่นดินเย็นเขาใหญ่ ตามสถานที่ที่พบ
กล้วยไม้ไร้ใบเบตง
กล้วยไม้ไร้ใบเบตง อยู่ในสกุลกล้วยไม้กินซากที่ไม่มีใบ พบขึ้นเฉพาะบริเวณป่าดิบที่สมบูรณ์ กล้วยไม้ไร้ใบเบตง ถูกเก็บมาจากป่าดิบบริเวณบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 อ.เบตง จ.ยะลา ใกล้ชายแดนมาเลเซีย เมื่อปี 2550 และเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2553 พบว่าเป็นกล้วยไม้ดินรากอวบน้ำใบลดรูปเป็นเกล็ด ดูเหมือนไร้ใบ ช่อดอกยาวได้ถึง70 เซนติเมตรสีม่วงเข้มถึงดำ กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบเลี้ยงบนรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปขอบขนาน ยาว 0.5-1 เซนติเมตร กลีบดอกสีเขียวอ่อน พบขึ้นประปรายในปริมาณน้อยเฉพาะบริเวณป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ในเขตป่าบาลา-ฮา ลา ออกดอกและเป็นผลเดือน ก.พ. – ก.ย. จึงทราบว่ากล้วยไม้ดินชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงได้ร่วมกับ ดร.เฮ็นดริกส์ เพดเดอร์เซ่น ผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้แห่งหอพรรณไม้มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเดนมาร์ก เสนอตีพิมพ์ตามวิธีการทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Taiwania,International Journal of LifeSciences เล่มที่ 56 (1) ปี 2011 โดยให้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Lecanorchisbetongensis Suddee & H. A. Pedersen ส่วนชื่อไทยได้ให้ชื่อว่ากล้วยไม้ไร้ใบเบตงตามสถานที่ที่พบ
กะเพราตะนาวศรี
กะเพราตะนาวศรี ค้นพบจากการสำรวจ บริเวณเขาหินปูนดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงได้ถึง 60 เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดินใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก หรือเป็นวงรอบ 3 ใบรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนสากช่อดอกยาวได้ถึง 25 เซนติเมตร ดอกสีม่วงอ่อนกลีบเลี้ยงสีม่วงแดง ยาว 4-5 มิลลิเมตร มีขนมีต่อมกลีบดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายหลอดซีกล่างมีกลีบปาก ซึ่งมี 5แฉก ซีกบนลดรูปเกสรเพศผู้มี 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน พบขึ้นตามเขาหินปูนผุกร่อนแถบเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่บริเวณ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ถึง จ.กาญจนบุรี ออกดอกและเป็นผลเดือน ส.ค. –พ.ย.ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารทางพฤกษศาสตร์และเทียบเคียงตัวอย่างพรรณไม้ในหอพรรณไม้ต่างๆ ทั่วโลก พบว่าพืชชนิดนี้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จึงได้ร่วมกับ ดร.อลัน พาตอล ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์กะเพราของสวนพฤกษศาสตร์คิว นำเสนอตีพิมพ์ตามวิธีการทางพฤกษศาสตร์ โดยได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Kew Bulletin เล่มที่ 63 ของสวนพฤกษศาสตร์คิว สหราชอาณาจักรซึ่งมีการตีพิมพ์พืชชนิดนี้อย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ. 2552 โดยให้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Teucrium scabrum Suddee& A. J. Paton ส่วนชื่อไทยได้ให้ชื่อว่า กะเพราตะนาวศรี ตามแหล่งที่พบบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี
ที่มา : โพสต์ทูเดย์