พบไหลึกลับ 600 ปีนับร้อยกลางป่าเขมรบรรจุกระดูก เชื่อบางส่วนไปจากสยาม


เอเอฟพี - ไหกว่าร้อยใบ และโลงศพนับสิบโลงถูกจัดวางเรียงบนเชิงผาในผืนป่าอันห่างไกลของกัมพูชามาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ ที่บรรจุโครงกระดูก และความลับของกลุ่มคนปริศนาที่อาศัยอยู่ขนานไปกับช่วงเวลาในสมัยพระนคร
       
       เหตุใดโครงกระดูกเหล่านี้ถึงถูกบรรจุลงในไห และตั้งไว้บนเชิงผาที่ความสูงกว่า 100 เมตร ในเทือกเขาคาร์ดามอม (Cardamom) หรือพนมกระวัญ (Phnom Krovanh) ตามชื่อเรียกในท้องถิ่น หรือแท้จริงแล้วนั้นโครงกระดูกเหล่านี้เป็นของผู้ใด คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้แก่ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นเวลานาน
       
       เป็นเวลา 7 ปี ที่ แนนซี่ เบแวน นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญในการคำนวณอายุของวัตถุเก่าแก่โดยดูจากปริมาณคาร์บอน ได้พยายามรวบรวมเบาะแสที่ถูกทิ้งไว้โดยคนลึกลับจากสถานที่ 10 แห่ง ทั่วพื้นที่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา และจากการทดสอบพบว่ากระดูกบางส่วนมีอายุมากถึง 6 ศตวรรษ
       
       “ทำไมต้องเอาโครงกระดูกเหล่านี้ใส่ลงไปในไห? นี่เป็นการกระทำที่ไม่พบในพื้นที่อื่นๆ ของกัมพูชา” แนนซี่ เบแวน กล่าว
       
       ไห 10 ใบ ที่มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จนถึงศตวรรษ 17 และโลงศพ 12 โลง ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14 ได้ถูกพบอยู่ที่บริเวณพนมแปล (Phnom Pel)
       
       ไหส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากอาณาจักรสยาม หรือไทยในปัจจุบัน ส่วนไหที่เหลือซึ่งเป็นส่วนน้อย มีอายุย้อนหลังไปในช่วงที่อาณาจักรพระนครเรืองอำนาจ
       
       แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคงประหลาดใจว่าเหตุใดโครงกระดูกถูกเก็บรักษาในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ที่การเผาศพเป็นจารีตประเพณีสำคัญ
       
       เทพ สุขา ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกของกัมพูชา กล่าวว่า ไหเหล่านี้เป็นเซรามิกคุณภาพสูง และมีข้อบ่งชี้หลายประการว่านี่เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และปฏิบัติอย่างกว้างขวาง
       
       ทีมศึกษาของเบแวนพยายามหาแหล่งกำเนิดของวัตถุโบราณที่พวกเขาพบ รวมทั้งโลงศพ 12 โลงที่เรียงอยู่บนแท่นหิน ซึ่งมีขนาดเล็กที่ไม่แม้แต่จะสามารถใส่ร่างของเด็กได้ แต่กลับบรรจุโครงกระดูกของผู้ชาย และผู้หญิงไว้ภายใน
       
       “โลงเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร ไม่มีตัวอย่างอื่นในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุโบราณที่ไม่เคยถูกรบกวนมาก่อน” เบแวน กล่าว
       
       หนึ่งในหลายทฤษฎีของ เบแวน คือ โครงกระดูกเหล่านี้เป็นของชนเผ่าเขมรที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปในภูเขาห่างไกลจากอิทธิพลของอาณาจักรพระนคร ที่แผ่ขยายในช่วงเวลาตั้งแต่ศตวรรตที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 15 แต่บางทีอาจเข้าไม่ถึงพื้นที่มุมนี้
       
       “บางทีพวกเขาอาจเป็นทาสที่หลบหนีจากอาณาจักรพระนคร” เบแวน กล่าว
       .
           
           
           
       .
       การค้นหาคำตอบก้าวกระโดดอย่างมากในช่วงปี 2548 เมื่อชาวประมงใน จ.เกาะกง พบไหสยามติดในอวนจับปลา และทำให้ค้นพบซากเรือสมัยศตวรรษที่ 15 ที่มีงาช้าง เครื่องลายครามของจีน และไหของชาวสยาม และของชาวพระนคร
       
       การค้นพบนี้นำมาซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับวิธีที่ไหจากสยามถูกนำมายังเทือกเขาคาดามอม เบแวน เชื่อว่าเรือลำดังกล่าวเดินทางมาจากอาณาจักรสยามเพื่อแลกเปลี่ยนไหกับงาช้าง และไม้มีค่า
       
       แม้ว่าสิ่งที่พบจะมีความสำคัญ แต่การอนุรักษ์ยังคงเป็นปัญหา
       
       ในเกาะกง วัตถุที่ถูกกู้มาจากซากเรือหลายร้อยชิ้นยังถูกทิ้งไว้ในห้องด้านหลังของศาลประจำจังหวัดตั้งแต่ปี 2550 แม้ว่ากัมพูชาจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ แต่การค้นพบได้ทำให้ทางการท้องถิ่นต้องพิจารณาการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สำหรับวัตถุโบราณขึ้นเพื่อที่จะรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติที่ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลานาน
       
       ทางการท้องถิ่นหวังให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่า และกระตุ้นให้เกิดข้อเสนอที่จะปกป้องคุ้มครองภูมิภาค
       
       ในปี 2555 จังหวัดมีนักท่องเที่ยวทั้งจากท้องถิ่น และต่างชาติเดินทางมาเยือนถึง 100,000 คน ด้วยความสวยงามของเทือกเขาคาดามอม น้ำตกจำนวนมาก และป่าไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้
       
       แม้ธรรมชาติจะมีอยู่อย่างมากมาย แต่สิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ได้ค่อยๆ หายไปจากเทือกเขาคาดามอม เนื่องจากผืนป่าที่มีค่าลดจำนวนลงเพราะบรรดาคนตัดไม้ และพวกนักล่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หายาก
       
       อย่างไรก็ตาม ยูเนสโกพยายามที่จะหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นทะเบียนเทือกเขาให้เป็น “แหล่งชีวมณฑล” นอกจากนั้น ซากเรืออับปาง ไห และโลง จะช่วยเพิ่มมิติทางวัฒนธรรมที่สามารถเพิ่มน้ำหนักการขึ้นทะเบียนพื้นที่ดังกล่าว
       
       แอนน์ เลอแมสเตรอะ ผู้อำนวยการยูเนสโกในกัมพูชา ระบุว่า การไม่ทำอะไรเลยนั้นถือเป็นอาชญากรรม และเวลาอาจหมดลงเพราะโครงการอุตสาหกรรมที่ตัดผ่านทะลุใจกลางป่าและบรรดานักล่า และพวกตัดไม้สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศ.
        

ที่มา : manager.co.th

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

2357

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน