เกร็ดน่ารู้ ก่อนไปเมียนม่าร์
การ เตรียมตัวก่อนการเดินทาง ดังต่อไปนี้
การเตรียมพร้อมด้านร่างกาย แนะนำว่าควรตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบถ้วน รวมถึงเตรียมยาประจำตัวมาให้เพียงพอ เพราะการสาธารณสุขของเมียนมาร์ยังไม่ทันสมัย
การเตรียมพร้อมด้านการเงิน ระบบการเงินระหว่างประเทศของเมียนมาร์ต้องผ่านระบบธนาคารของรัฐเท่านั้น และตู้เบิกเงินอัตโนมัติมีไม่แพร่หลาย อีกทั้งยังไม่รองรับการถอดเงินจากบัญชีในต่างประเทศ รวมถึงไม่มีการโอนเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงควรแลกเงินดอลลาร์สหรัฐมาให้เพียงพอ
เนื่องจากโรงแรม และร้านค้าในเมียนมาร์ส่วนใหญ่จะไม่รับบัตรเครดิตหรือ Traveler’s Cheque สภาพของธนบัตรที่นำมาจะต้องอยู่ในสภาพใหม่ ไม่ยับ ไม่มีรอยขีดข่วน หรือเลอะสี และควรเป็นธนบัตรรุ่นใหม่ ทั้งนี้ ธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐที่หมายเลขขึ้นต้นด้วย CB โรงแรมและร้านค้าในเมียนมาร์อาจปฏิเสธที่จะไม่รับ
การตรวจลงตราและหนังสือเดินทาง : ผู้ที่จะเดินทางเข้าเมียนมาร์ต้องมีหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ และตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวหรือประเภทนักธุรกิจก็ได้ ทั้งนี้ สามารถขอรับการตรวจลงตราได้จากสถานทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย
โดยทั่วไปมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. Tourist Visa หรือการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว มีอายุ 28 วัน
2. Business Visa หรือการตรวจลงตราประเภทธุรกิจอยู่ในเมียนมาร์ได้นาน 10 สัปดาห์ ผู้ที่ทำธุรกิจอยู่ในเมียนมาร์สามารถขอรับการตรวจลงตราแบบเข้า-ออกประเทศได้ หลายครั้ง
3. Entry Visa (สำหรับเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ และแขกของหน่วยงาน/รัฐบาลเมียนมาร์) จะอยู่ในเมียนมาร์ได้ 4 สัปดาห์
ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาร์ได้เปิดบริการ Visa on Arrival สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทาง 26 ชาติ รวมทั้งประเทศไทย โดยให้บริการเฉพาะการตรวจลงตราประเภท (1) Transit Visa (2) Business Visa (3) Entry Visa ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.mip.gov.mm อนึ่ง ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าเมียนมาร์เพื่อการท่องเที่ยว ยังจำเป็นต้องขอรับการตรวจลงตราที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ตามปรกติ
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะอยู่ในเมียนมาร์เกิน 4 สัปดาห์ จะต้องขอรับการตรวจลงตราสำหรับพำนักอยู่ในเมียนมาร์เป็นเวลานาน เรียกว่า Stay Permit อาจมีอายุใช้งานถึงหนึ่งปี และขอต่ออายุออกไปได้อีก การตรวจลงตราแบบเข้า-ออกประเทศได้หลายครั้งในช่วงหนึ่งปีนี้ก็มีเช่นกัน ท่านจะต้องยื่นเรื่องขอ Stay Permit จากกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของเมียนมาร์ก่อน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในเมียนมาร์เกินกว่า 4 สัปดาห์จะต้องยื่น Departure Form (D Form) ต่อทางการเมียนมาร์ ก่อนที่จะเดินทางออกนอกประเทศ
หมายเหตุ เด็กที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป จะต้องขอรับการตรวจลงตรา
ระบบไฟฟ้า และการสื่อสาร : ระบบโทรศัพท์ในเมียนมาร์ยังไม่เสถียรมากนัก การใช้งานระบบโรมมิ่งของโทรศัพท์มือถือจากประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ได้กับ ทุกเครือข่ายและจำกัดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น ท่านที่ประสงค์จะใช้โทรศัพท์มือถือใน เมียนมาร์ควรซื้อซิมการ์ดท้องถิ่น (ราคาประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐ)
ระบบไฟฟ้าในเมียนมาณ์ยังไม่เสถียรมากนัก ไฟฟ้าดับบ่อยครั้งระหว่างวัน อย่างไรก็ตาม โรงแรมชั้นนำทั่วไปในกรุงย่างกุ้งและเมืองใหญ่ต่าง ๆ มักจะมีเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ใช้ในกรณีกระแสไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ
การเข้าพำนักในเคหสถานของชาวเมียนมาร์
ระเบียบราชการกำหนดว่า ชาวต่างชาติจะต้องไปลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือสถานีตำรวจในท้องที่ที่ตนเดินทางเข้าไปพัก โดยปกติถ้าเข้าพักตามโรงแรม โรงแรมจะเป็นธุระจัดการเรื่องนี้ให้เอง แต่ถ้าไปขอค้างคืนตามวัดหรือบ้านคน จะต้องไปลงทะเบียนกับตำรวจด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทั้งกับตัวท่าน และผู้ให้ที่พักพิงกับท่านในภายหลัง
หากท่านจะอยู่อาศัยในประเทศเมียนมาร์เป็นระยะเวลานาน โปรดแจ้งชื่อ และที่อยู่ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อหรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น โดยสามารถลงทะเบียนกับแผนกกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ด้วยตนเองหรือแจ้งผ่านอีเมล์ thaiembassyygn@gmail.com
การเดินทางสัญจรภายในประเทศเมียนมาร์
การเดินทางระหว่างเมืองในเมียนมาร์ หากเป็นเมืองที่ไม่ไกลจากกรุงย่างกุ้ง สามารถเดินทางโดยทางรถได้ แต่สภาพรถ ทั้งรถประจำทาง และรถแท็กซี่ หรือรถตู้รับจ้าง โดยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเก่า และคนขับรถส่วนมากไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
การใช้บริการแท็กซี่ มีอย่างแพร่หลายในกรุงย่างกุ้งและเมืองใหญ่ต่าง ๆ แต่ผู้โดยสารควรต่อรองราคาก่อน เนื่องจากรถแท็กซี่ทั่วไปจะไม่มีมิเตอร์ อีกทั้งสภาพถนนระหว่างเมืองต่างๆ ก็มีสภาพไม่ดีเป็นหลุม เป็นบ่อ โดยเฉพาะหน้าฝน เมียนมาร์มีรถไฟเชื่อมระหว่างจังหวัด ที่สำคัญทั่วประเทศ ราคาถูก แต่ไม่สะดวกและใช้เวลาเดินทางนานมาก การเดินทางโดยสายการบินท้องถิ่นจึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
สำหรับการบินภายในประเทศจะสะดวกที่สุด แต่ตารางการบินอาจไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงเวลาทำการบินอย่างกะทันหันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติ ผู้โดยสารควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นผิดเที่ยวบิน เนื่องจากทุกเที่ยวบินภายในประเทศใช้ประตู (gate) เดียวกัน ในช่วงฤดูฝน หรือฤดูมรสุม อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเที่ยวบินบ่อยครั้งเนื่องจากระบบสนามบินใน ต่างจังหวัดไม่มีระบบนำร่องโดยเฉพาะในภาคใต้ของเมียนมาร์ แต่สภาพของเครื่องบินและการบริการภายในเครื่องบินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ข้อควรระวังในการพำนักอยู่ในเมียนมาร์
1) ไม่ควรพูดคุยเรื่องทางการเมืองของเมียนมาร์กับบุคคลทั่วไปที่ไม่รู้จักมักคุ้น
2) ไม่ควรใส่กระโปรงสั้น หรือกางเกงขาสั้นในสถานที่สาธารณะ และในสถานที่สำคัญทางศาสนา
3) ไม่ควรถ่ายรูปในบริเวณสนามบิน สถานีรถไฟ และสถานที่ราชการก่อนได้รับอนุญาต เมื่อจะถ่ายรูปชาวเมียนมาร์ก็ควรขออนุญาตเช่นกัน
4) ควรมีความสำรวมในวัดและศาสนสถาน ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
5) ระมัดระวังการพูดเชิงลบเกี่ยวกับประเทศหรือชาวเมียนมาร์ในที่สาธารณะ เพราะมีชาวเมียนมาร์จำนวนมากที่เข้าใจภาษาไทยได้ดี
6) เมียนมาร์ได้เปลี่ยนชื่อประเทศแล้ว จึงไม่ควรใช้ชื่อเดิม (Burma) กับชาวเมียนมาร์
7) ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรจัดเตรียมยาประจำตัวมาด้วย
8) ควรระมัดระวังเลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มจากร้านที่สะอาดถูกสุขอนามัย โดยเฉพาะน้ำดื่ม ควรดื่มน้ำที่บรรจุในขวดปิดผนึกเรียบร้อย
9) ทางการเมียนมาร์อาจห้ามชาวต่างชาติเดินทางไปยังบางเมืองหรือบางพื้นที่ หากประสงค์ที่จะเดินทางไปเมืองที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวของเมียนมาร์ ควรตรวจสอบข้อมูลก่อน
ติดต่อ สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย
ที่อยู่ 132 ซอย 71 ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ 10500
โทรศัพท์ 0 2233 0278, 0 2233 2237
โทรสาร 0 2236 6898
e-mail : myanmarembassybkk@gmail.com
(หากเดินทางโดยรถไฟฟ้า-BTS ลงที่สถานีสุรศักด์)
เวลาทำการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00-15.00 น.
ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง