บันทึกอาเซียน กับ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล : การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22


                   
 
บันทึกอาเซียน | ASEAN Diary : ASEAN 2013 "Our People, Our Future”

ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน 2013 ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 นับเป็นครั้งที่สี่ที่บรูไนรับหน้าที่ประธานอาเซียน

สำหรับปีที่บรูไนเป็นประธานอาเซียนปีนี้ได้กำหนดแนวคิดหลักประจำปีว่า "Our People, Our Future Together” หรือ "ประชาชนของเรา, และอนาคตของเราร่วมกัน” หมายความว่าประชาชนพลเมืองของทั้งสิบรัฐสมาชิกอาเซียนนั้นถือได้ว่าร่วมอนาคตการเป็นประชาคมอาเซียนด้วยกัน ทั้งในประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน, ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นการยืนยันว่าอนาคตของภูมิภาค
อาเซียนจะขึ้นอยู่กับการที่ประชาชนพลเมืองอาเซียนจะเคลื่อนที่เดินไปข้างหน้าอย่างไร ในการร่วมมือกันทำงานเพื่อความก้าวหน้าในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดต่อไป

สำหรับภาพสัญลักษณ์ปีอาเซียน 2013 : บรูไนกำหนดไว้เป็นรูปลายดอกไม้ "บังกา เบอร์ปูตา” (Bunga Berputar) ลายดอกไม้นี้จะพบเห็นทั่วไปในผ้าพิมพ์ลายดอกที่นิยมกันในบรูไน มีความหมายว่าอาเซียนก้าวหน้าอย่างมีพลังไม่หยุดยั้งในการตอบสนองความต้องการของสังคมในเรื่องการเมืองและความมั่นคง เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องสังคมและวัฒนธรรม


ภาพคนสิบคนจับมือเชื่อมโยงกันแสดงถึงความสามัคคีของชาวอาเซียนในสิบประเทศ ในการมุ่งมั่นสร้างประชาคมทั้งสาม คือประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน, ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
 
สีแดง, ดำ, เหลือง, ขาว, และน้ำเงิน เป็นสีที่อยู่ในธงอาเซียน

สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความยืนยงสถาพรทางการเมือง
สีแดง คือ ความกล้าหาญและพลวัตรในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง
สีขาว สะท้อนความบริสุทธิ์
สีเหลือง แสดงถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

 
ตราสัญลักษณ์อาเซียนตรงกลางหมายถึงการยืนหยัดมั่งคงถาวร, สันติภาพ, สามัคคีภาพ, และพลวัตรของอาเซียน

เรื่องที่ผู้นำอาเซียนจะคุยกัน หรือลงนาม หรือประกาศปฏิญญา หรือลงนามในความตกลงร่วมกัน โดยปรกติแล้วก็จะมีการสำรวจความคืบหน้าในความร่วมมือ
ระดับภูมิภาคอาเซียนทั้งสามเรื่องที่เป็นส่วนของทั้งสามประชาคม เพียงแต่ว่าเรื่องประชาคมเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องเดียวที่วัดผลการทำงานร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะอาเซียนมีแผนงานและตารางการทำงานให้ตรงเป้าตามที่เรียกว่า "AEC Scorecard” ดังนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจึงสามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเดินหน้าไปตามเป้าหมายที่ว้างไว้ได้แล้ว 77.5% เมื่อถึงปลายปี 2015 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ควรจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน นั่นหมายถึง 100%


เรื่องที่มีปัญหาการประเมินอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ เรื่องการเมืองและความมั่นคง กับ เรื่องสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองเรื่องสองประชาคมนี้ไม่มีคู่มือประเมินที่จะให้คะแนนแบบ scorecard ได้ ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนเคยหารือกันและแสดงความปรารถนาที่จะหาระบบประเมินความก้าวหน้าในเรื่อง
การเมือง-ความมั่นคง-สังคม-วัฒนธรรม ในอาเซียนให้ได้ แต่ก็ยังไม่มี การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 7 ก็ยังไม่ถึงกำหนดประชุม ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 6-7 พฤษภาคม ที่บันดาเสรีเบกาวัน หลังจบการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 แล้ว
 
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนก็จัดประชุมเตรียมการกันไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน ซึ่งพบว่ามีการกล่าวถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ที่มิใช่ด้านการเมืองหรือการทหาร เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ ปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติ ฯลฯ มีการหารือกันเรื่องการตั้งเครือข่ายศูนย์รักษาสันติภาพในอาเซียน (ASEAN Peace Keeping Centres Network) ตลอดจนการจัดการกระบวนการประสานงานเชื่อมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหม

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนไม่ใช่เรื่องของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของกระทรวงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากหลากหลาย ตลอดจนภาคเอกชนด้วย เพราะเรื่องความมั่นคงในโลกปัจจุบันนั้นกินความกว้างไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย ในเมื่อเรื่องนี้ยากที่จะวัดผลให้คะแนนเป็นรูปธรรมได้ การทำงานด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนจึงเป็นงานที่ยากที่จะมองเห็นความคืบหน้าชัดเจน นอกจากจะดูที่เอกสารที่ถือเป็นสนธิสัญญา ความตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ

ดูจากสถานการณ์โดยรวมในอาเซียนปีนี้คาดได้ว่าวาระการประชุมเรื่องเศรษฐกิจจะไม่มีประเด็นปัญหาอะไรที่เป็นเรื่องวิกฤติ แต่วาระการประชุมด้านการเมืองจะมีมารอการพิจารณาของผู้นำอาเซียนมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีพิพาทเขตอธิปไตยในทะเล และปัญหาขัดแย้งระหว่างรัฐสมาชิกเรื่องเขตแดนบนบก โดยเฉพาะระหว่างมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ และระหว่างไทยกับกัมพูชา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องปัญหาระหว่างประเทศเหล่านี้จะถูกบรรจุในวาระการประชุมหรือไม่เท่านั้นเอง หากเป็นเรื่องพรมแดนอันเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศก็อาจถูกเก็บไว้ให้เป็นเรื่องตัวต่อตัว หรือ "ทวิภาคี” ซึ่งจะดีกว่าที่จะบรรจุให้เป็นเรื่องของอาเซียนโดยตรง จะคงเหลือไว้ที่กลายเป็นเรื่องพหุภาคีในอาเซียนไปแล้วคือเรื่องพิพาทอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
 
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 ที่บรูไนเป็นเจ้าภาพปลายเดือนเมษายนนี้ คาดได้แน่ว่าจะมีวาระเรื่องการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าเรื่องเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้นก็คงจะค่อยเป็นค่อยไป ในระยะยาว อาจจะนานหลายสิบปีกว่าชาวอาเซียนจะสร้างอัตลักษณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันได้

 
ดูไทยกับกัมพูชาเป็ยแบบอย่างที่ไม่ควรเอาอย่างก็ได้ ทั้งสองสังคมเป็นชาวพุทธด้วยกัน แต่แย่งวัดฮินดูโบราณกันอย่างไม่เห็นแก่พระวิษณุหรือพระพรหม เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ไปพึ่งผู้พิพากษาชาวคริสต์ในยุโรป โดยไม่รู้ว่าฝรั่งชาวคริสต์จะตัดสินให้อย่างไร หากชาวคริสต์ยึดแนวพุทธ คำพิพากษาก็จะเดินสายกลาง แล้วก็จะสร้างความไม่พอใจให้กับคู่กรณีชาวพุทธทั้งสองซึ่งละทิ้งทางสายกลางไปนานแล้ว

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไป เป็นครั้งที่ 23 บรูไนจะเป็นเจ้าภาพจัดในวันที่ 9-10 ตุลาคม จากนั้นต่อไปในปี 2014 สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จะทำหน้าที่ประธานอาเซียนเป็นครั้งแรก
 

สมเกียรติ อ่อนวิมล
อ้างอิง:
http://www.asean2013.gov.bn/index.php/about/about-theme-logo

http://rtbnews.rtb.gov.bn/index.php?
option=com_content&view=article&id=9797:aec-blueprint-implementation&catid=72:chairman-asean-2013&Itemid=107

http://rtbnews.rtb.gov.bn/index.php?option=com_content&view=article&id=9612:asean-defence-senior-officials-meeting&catid=72:chairman-asean-2013&Itemid=107

 
ที่มา เดลินิวส์

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

798

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน