ความร่วมมือทางทะเลในกรอบอาเซียน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการเดินเรือในภูมิภาค โดยมีช่องแคบมะละกาที่เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก
เมื่อคำนึงว่า การค้าทางทะเลมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๙๐ ของมูลค่าการค้าโลก ในจำนวนนี้ ร้อยละ ๔๐ เป็นการค้าผ่านช่องแคบมะละกา พื้นที่ทะเลในภูมิภาคนี้ นอกจากเป็นเส้นทางคมนาคมหลักแล้ว ยังเป็นแหล่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น น้ำมันดิบและ ก๊าซธรรมชาติ
รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายเพื่อรักษาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทะเลให้มากยิ่งขึ้นผ่านการขับเคลื่อนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ และดำเนินนโยบายส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในอาเซียนผ่านกรอบและกลไกต่างๆ เช่น การประชุมหารืออาเซียนว่าด้วยประเด็นทางทะเล(ASEAN Maritime Forum – AMF) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defense Ministers’ Meeting – ADMM)
ความร่วมมือทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเน้นการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขและป้องปรามปัญหาภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ปัญหาโจรสลัดและการปล้นสดมภ์ การก่อการร้ายทางทะเล ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ เช่น ยาเสพติด การค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์
รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรทางทะเล การเพิ่มขีดความสามารถด้านการจัดการประมงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล การพัฒนาชายฝั่ง การอนุรักษ์แนวปะการัง เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางทะเลโดยการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและกลไกในกรอบอาเซียน เช่น
1.อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea - UNCLOS)
2.สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC)
3.ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea - DOC) และโดยสันติวิธี
ที่มา : กองอาเซียน ๑
กรมอาเซียน