ประเทศมาเลเซียกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม


ประเทศมาเลเซียกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิหลังประเทศมาเลเซีย

ประเทศมาเลเซียเกิดขึ้นจากความคิดของตุนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา โดยต้องการรวมสหพันธรัฐ
มาลายา, สิงคโปร์, ซาราวัค, บอร์เนียวเหนือ (ซาบะห์) และบรูไนเข้าด้วยกัน โดยสหพันธรัฐมาลายาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1957 ดังนั้นจึงถือว่าวันชาติของประเทศมาเลเซียคือ วันที่ 31 สิงหาคม 1957 สำหรับแนวคิดการจัดตั้งประเทศมาเลเซียนี้ได้มีการประกาศเมื่อ 27 พฤษภคม 1961 แต่การเสนอจัดตั้งครั้งนี้ได้รับการต่อต้านและพบอุปสรรคหลายอย่าง เช่น
1. เกิดการผจญหน้า (Confrontation) จากประเทศอินโดนีเซีย
2. การเรียกร้องสิทธิของฟิลิปปินส์เหนือรัฐซาบะห์
3. ได้รับการต่อต้านจากพรรคประชาชนบรูไน (Parti Rakyat Brunei)
4. ได้รับการต่อต้านจากบางพรรคการเมืองในรัฐซาราวัค

อย่างไรก็ตามการจัดตั้งประเทศมาเลเซียประสบความสำเร็จเมื่อ 16 กันยายน 1963 บางคนอาจเข้าใจว่าชื่อของประเทศนี้มาจากการประดิษฐ์คำของชาวมาเลเซีย ความจริงแล้วคำว่า มาเลเซีย หรือ Malaysia นั้นผู้ที่ประดิษฐ์คำนี้กลับเป็นชาวฟิลิปปินส์
 
ผู้ที่ประดิษฐ์คำว่า Malaysia มีชื่อว่า นายเวนเซสลาว คิว. วินซันส์ (Wenceslao Q. Vinzons)   เขาประดิษฐ์คำนี้เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1932 นายเวนเซสลาว คิว. วินซินส์ ได้บรรยายถึงความเป็นของมาในเรื่องโลกมลายู-โปลีเนเซีย เขาบรรยายที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์(University of The Philippines) ตามหัวข้อหนังสือที่เขาเขียนที่มีชื่อว่า “Malaysia Irredenta” เขาเรียกร้องให้มีการรวมตัวของชนชาติมลายูเข้าด้วยกัน ถือได้ว่าเขาเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า “Malaysia” ก่อนที่จะมีการนำชื่อนี้มาเป็นชื่อประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน

การปกครองแบบสหพันธรัฐ
ประเทศมาเลเซียนับว่าเป็นประเทศที่มีการปกครองที่แตกต่างจากประเทศไทยและประเทศเพื่อน
บ้านอื่นๆ เพราะประเทศมาเลเซียใช้ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ ประเทศมาเลเซียมีทั้งหมด 13 รัฐ โดยมีรัฐจำนวน 9 รัฐที่มีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นประมุข ในจำนวนรัฐดังกล่าวมี 7 รัฐเรียกตำแหน่งเจ้า
ผู้ครองรัฐว่าสุลต่าน(Sultan) คือรัฐกลันตัน, รัฐตรังกานู,รัฐปาหัง, รัฐสลังงอร์, รัฐโยโฮร์, รัฐเคดะห์, รัฐเปรัค มีจำนวน 1 รัฐเรียกตำแหน่งเจ้าผู้ครองรัฐว่าราชา (Raja) คือรัฐเปอร์ลิส
 
และมีอีกจำนวน 1 รัฐเรียกตำแหน่งเจ้าผู้ครองรัฐว่า ยังดีเปอร์ตวนบือซาร์ (Yang Di Pertuan Besar) คือรัฐนัครีซัมบีลัน เจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 9 รัฐนี้จะทำการเลือกพระราชาธิบดีในหมู่พวกเขากันเองโดยมีวาระ 5 ปี เรียกตำแหน่งพระราชาธิบดีว่า ยังดีเปอร์ตวนอาฆง (Yang Di Pertuan Agong) ส่วนอีกจำนวน 4 รัฐที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐ แต่มีสามัญชนที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระราชาธิบดีเป็นผู้ว่าการรัฐ (Governor) รัฐดังกล่าวคือ รัฐปีนัง, รัฐมะละกา, รัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค

การที่ประเทศมาเลเซียมีการปกครองแบบสหพันธรัฐนี้เองทำให้นอกจากประเทศมาเลเซียจะมีรัฐธรรมนูญของประเทศแล้ว แต่ละรัฐยังมีรัฐธรรมนูญของตนเองอีกด้วย อำนาจหน้าที่การบริหาร
การปกครองในประเทศมาเลเซียจึงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลสหพันธรัฐ หรือ รัฐบาลกลางที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ 2. อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐ และ 3. อำนาจหน้าที่ร่วมกันของสหพันธรัฐ หรือ รัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐ

อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลสหพันธรัฐ หรือ รัฐบาลกลาง เช่น
1. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
2. การป้องกันประเทศ
3. ความมั่นคงภายในประเทศ
4. กิจการเกี่ยวกับการมีสัญชาติสหพันธรัฐ
5. การคลัง
6. การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม
7. การศึกษา

อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น
1. กฎหมายอิสลาม 
2. ที่ดิน
3. การเกษตรและการป่าไม้
4. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
5. หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น

อำนาจหน้าที่ร่วมกันของรัฐบาลสหพันธรัฐ หรือ รัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น เช่น
1. การบริการสาธารณะ เช่น ประชาสงเคราะห์ พิทักษ์สตรี เด็กและเยาวชน
2. ทุนการศึกษา 
3. ป่าสงวนแห่งชาติ และสัตว์สงวน
4. การชลประทาน

การศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพทางสังคม
โรงเรยนในระบบการศึกษาของประเทศมาเลเซียก่อนได้รับเอกราชนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.โรงเรียนอังกฤษ (English School)
เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งโดยรัฐบาลเจ้าอาณานิคมอังกฤษและกลุ่มเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มโรงเรียนอังกฤษจะตั้งอยู่ในเมืองใหญ่และเมืองสำคัญ ๆ เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการเรียนการสอน โรงเรียนของรัฐบาลที่มีชื่อเสียงในส่วนนี้ เช่น Malay College, Kuala Kangsar ที่รัฐเปรัค และMalay Girls’ College ที่กัวลาลัมเปอร์
 
ส่วนโรงเรียนที่กลุ่มเผยแพร่ศาสนาคริสต์จัดตั้ง เช่น Anglo–Chinese School ผู้ที่จบจากโรงเรียนของอังกฤษนั้น นอกจากจะไปเข้ารับราชการในหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว บางส่วนที่เรียนดีจะเข้าเรียนที่สถาบันการศึกษาในสิงคโปร์
2. โรงเรียนภาษาพื้นเมือง ( Vernacular School)

โรงเรียนประเภทนี้แบ่งออกได้ดังนี้
1.1 โรงเรียนมลายู
เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชนบทและในเมือง มีรัฐบาลเป็นเจ้าของและบางส่วนเป็นโรงเรียนของเอกชน มีระดับประถมศึกษาปีที่ 6-7 ส่วนใหญ่ผู้ที่จบจากโรงเรียนนี้จะออกไปเป็นประชาชนทั่วไป เช่น ทำไร่ ทำนา เป็นชาวประมง ส่วนผู้ที่มีคะแนนดีจะสามารถไปเรียนต่อยังวิทยาลัยครูสุลต่านอิดริส (Sultan Idris Teacher College) ปัจจุบันวิทยาลัยครูแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยการศึกษาสุลต่านอิดริส (Universiti Pendidikan Sultan Idris หรือ UPSI) และอีกสถาบันหนึ่งที่ผู้มีคะแนนดีจะเข้าเรียนคือวิทยาลัยครูสตรีแห่งมะละกา (Maktab Perguruan Perempuan Melaka) โดยทั้งสองสถาบันดังกล่าวผู้ที่จบออกมาจะไปเป็นครูและมีเช่นกันที่นักเรียนคะแนนดีจะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอังกฤษเพื่อไปสู่สถาบันระดับอุดมศึกษา
1.2 โรงเรียนจีน
เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาในการเรียนการสอนนั้นจะเป็นโรงเรียนเอกชนและบางส่วนได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล มีการเรียนการสอนในระดับประถมและมัธยม ส่วนใหญ่หลักสูตร,หนังสือและบุคลากรจะนำมาจากประเทศจีน เมื่อจบการศึกษาที่โรงเรียนจีนแล้วผู้ที่ได้คะแนนจะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศจีนและไต้หวัน
1.3 โรงเรียนทมิฬ
เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาทมิฬ (ภาษาของอินเดียใต้) เป็นภาษาในการเรียนการสอนนั้นจะเป็นโรงเรียนที่สอนในระดับประถมเท่านั้น เป็นโรงเรียนของชุมชนอินเดียในมาเลเซียสำหรับผู้ที่ได้คะแนนดีจะออกไปศึกษาต่อในโรงเรียนอังกฤษ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถศึกษาต่อก็จะออกไปใช้แรงงานทั่วไป
และยังมีอีกโรงเรียนชนิดหนึ่งซึ่งถือว่าอยู่ในส่วนของโรงเรียนมลายูคือโรงเรียนศาสนาเป็นโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่เรียกว่าโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามหรือ Sekolah Agama Rakyat โรงเรียนชนิดนี้อาจเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่าโรงเรียนปอเนาะ (Sekolah Pondok) ผู้ที่เรียนในโรงเรียนชนิดนี้บางส่วนจะศึกษาต่อยังตะวันออกกลางในระดับปริญญาเช่นในประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศอียิปต์

การศึกษาภายหลังจากได้รับเอกราช
ในปี 1956 ได้มีเอกสารรายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบการศึกษาของมาเลเซีย โดยมี ดาโต๊ะอับดุลราซัค บินดาโต๊ะฮุสเซ็น ( Datuk Abdul Razak Bin Dato’Hussein) ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการ เอกสารรายงานนี้เรียกว่ารายงานราซัค (Laporan Razak 1956) โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 17 ประการ เป็นข้อเสนอเพื่อใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแห่งชาติ ข้อเสนอที่สำคัญคือมีดังนี้

1. ระบบการศึกษาต้องมีการแก้ไขโดยให้มีเพียง 2 ประเภทคือ
โรงเรียนทั่วไป ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาในการเรียนการสอน และโรงเรียนทั่วไปแบบแบ่งประเภท ใช้ภาษาที่พวกเขาเลือก เช่น ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีนและภาษาทมิฬ เป็นภาษาในการเรียนการสอน
2. ภาษามลายูและภาษาอังกฤษจะเป็นวิชาบังคับสำหรับทุกโรงเรียน
3. ระบบการศึกษาทั้ง 4 ประเภทในระดับโรงเรียนประถมศึกษาจะยังคงมีอยู่ ส่วนหลักสูตรจะแก้ไขและให้เหมาะสม โดยแทรกเนื้อหาของหลักการแห่งชาติเข้าไปในหลักสูตร
4. นักเรียนจีนและอินเดียสามารถเรียนภาษาของพวกเขาเองในโรงเรียนทั่วไปแบบแบ่งประเภท ถ้าได้รับการร้องขอจากบรรดาผู้ปกครองของพวกเขา
5.ต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการขยายภาษาแห่งชาติ(ภาษามลายู)ในหมู่ประชาชนในสหพันธรัฐมาลายา

หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับการศึกษาของมาเลเซียตามข้อเสนอของรายงาน
ราซัค โดยมีนายอับดุลระห์มาน ตาลิบ ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและเรียกรายงานฉบับนี้ว่า รายงานราห์มาน ตาลิบ ปี 1960 (Laporan Rahman Talib 1960) โดย มีข้อเสนอที่สำคัญคือ
1. การศึกษาฟรีในระดับโรงเรียนประถมศึกษาเป็นเวลา 9 ปี
2. มีการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติตั้งแต่ชั้นป. 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3
3. มีการสอบประเมินความรู้ในชั้นประถมปีที่ 5
4. มีการปรับปรุงระบบการศึกษาที่เรียกว่า ระบบการเรียนการสอนด้วยภาษาพื้นเมือง หรือ Vernacular School ซึ่งเป็นการเรียนด้วยภาษาท้องถิ่นต่างๆ
5. ให้ภาษามลายูเป็นภาษาในการเรียนการสอน
6. ภาษาราชการ(ภาษามลายู)ต้องเป็นภาษาที่ใช้ในการสอบทั่วไปทั้งหมด

ในปี1974 มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษานโยบายการศึกษาแห่งชาติและรายงานของคณะกรรมการดังกล่าวได้ออกมาเมื่อปี 1979 ดังนั้นจึงมีนโยบายให้สอดคล้องกับรายงานดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาเช่น 
1. ต้องใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสอน
2. ต้องมีหลักสูตรที่เหมือนกันในทุกประเภทของโรงเรียน
3. ต้องมีระบบการสอบที่เหมือนกันทุกในโรงเรียน
4.มีการแนะนำการศึกษาชั้นประถมตามหลักสูตรใหม่ของโรงเรียนประถมหรือที่เรียกว่าหลักสูตรใหม่สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา หรือ Kurikulum Baru Sekolah Rendah (KBSR) โดยมีฐาน 3 M คือ Menulis (การเขียน) Membaca (การอ่าน) และMengira(การคิด)
5. ขยายการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา

ภายหลังจากรายงานราห์มาน ตาลิบ ปี 1960 และรายงานเกี่ยวกับการศึกษาปี 1979 แล้ว ทำให้รัฐบาลได้จัดระบบการศึกษาของมาเลเซียใหม่ โดยมีโรงเรียนต่างๆได้ใช้หลักสูตรที่เรียกว่าสายแห่งชาติ หรือ Aliran Kebangsaan ซึ่งแบ่งโรงเรียนออกเป็น 2 ชนิด
1.โรงเรียนแห่งชาติ (Sekolah Kebangsaan) เป็นโรงเรียนที่สอนระดับประถมและมัธยม ใช้ภาษามลายูในการเรียนการสอน
2.โรงเรียนประเภทแห่งชาติ (Sekolah Jenis Kebangsaan) เป็นโรงเรียนที่สอนในระดับประถม โรงเรียนประเภทนี้ในบางวิชาจะใช้ภาษาของชนเชื้อชาติต่าง ๆ ในการเรียนการสอน เช่น โรงเรียนประเภท(จีน)แห่งชาติ หรือ Sekolah Jenis (Cina) Kebangsaan จะใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอนหรือ โรงเรียนประเภท(ทมิฬ)แห่งชาติ หรือ Sekolah Jenis (Tamil) Kebangsaan จะใช้ภาษาทมิฬในการการเรียนการสอน

การพัฒนาการทางการศึกษาของประเทศมาเลเซียนั้น จนถึงปี 1964 การจัดการสอบของนักเรียนเพื่อเลื่อนชั้นเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมไม่มีอีกต่อไป โดยในปี 1964 มีนักเรียนเป็นจำนวนถึง 30-40 % จากโรงเรียนประถมสามารถเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยม แต่หลังจากปี 1964 มีนักเรียนประมาณ 85-90 % ของนักเรียนโรงเรียนประถมสามารถเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมโดยอัตโนมัติ
ในประเทศมาเลเซียนั้น นักเรียนจะต้องมีการสอบอย่างน้อยทั้งหมด 4 ประเภทด้วยกัน ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย การสอบดังกล่าวคือ

1.การสอบประเมินความรู้ระดับโรงเรียนประถม หรือ Ujian Penilaian Sekolah Pelajaran (UPSR)
2.การสอบประเมินความรู้ในระดับประกาศนียบัตรการศึกษามาเลเซียการศึกษาชั้นต้น หรือ Sijil Rendah Pelajaran Malaysia (SRP) ซึ่งเป็นการสอบในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
3.การสอบประเมินความรู้ในระดับประกาศนียบัตรการศึกษามาเลเซียหรือ Sijil Pelajaran Malaysia (SPM) ซึ่งเป็นการสอบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
4.การสอบประเมินความรู้ในระดับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงหรือ Sijil Tinggi Persekolahan Malaysia (STPM) ซึ่งเป็นการสอบในระดับเตรียมอุดมศึกษา 

การจัดการสอบ UPSR ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มมีขึ้นในปี 1989 เป็นการทดสอบคุณภาพของการศึกษาในโรงเรียนประถม จากระบบการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ การสอบ UPSR นี้เป็นพื้นฐานและเกณฑ์เพื่อวัดความรู้การพัฒนาของนักเรียน ซึ่งสามารถทำการคัดเลือกแบ่งกลุ่มนักเรียนสำหรับปีถัดไป คือเมื่อนักเรียนขึ้นชั้นประถมศึกปีที่ 6 ปัจจุบันการสอบนี้เป็นการสอบเพื่อคัดเลือกนักเรียนสำหรับการเข้าเรียนยังโรงเรียนประจำ และโรงเรียนเป็นเลิศ (Elite School) นักเรียนในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจะสอบ SRP ในช่วงสุดท้ายตอนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนยังชั้นมัธยมปีที่ 4 เกณฑ์การสอบ SRP นั้นจะใช้เกณฑ์ A, B, C สำหรับนักเรียนที่ได้เกรดระดับ A นั้น สามารถเข้าเรียนยังโรงเรียนทั่วไปหรือเข้าโรงเรียนประจำ,โรงเรียนมัธยมเทคนิคและโรงเรียนมัธยมอาชีวะศึกษา ส่วนการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะจบการศึกษาด้วยผ่านการสอบ SPM การสอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนี้ สามารถทำงานได้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ผลการสอบ SPM จะสามารถกำหนดนักเรียนผู้นั้นเข้าเรียนในระดับเตรียมอุดมศึกษา หรือPre-University เพื่อสอบ STPM

ในประเทศมาเลเซีย การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นเอกภาพของประเทศ มีการดำเนินการกระบวนการทางการเมือง ในการพัฒนาการศึกษา เช่น การปรับปรุงหลักสูตรที่มีความแตกต่างกัน โดยการสร้างภาษามลายูหรือในขณะนั้นเรียกว่า ภาษามาเลเซียเป็นภาษาแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นประเทศมีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ จึงจำเป็นต้องสร้างความเป็นเอกภาพภายในกลุ่มทั้ง 3 เชื้อชาติ แนวทางที่ได้ผลในการให้บรรลุถึงเป้าหมายนี้คือ การใช้ภาษาร่วมกัน การเลือกภาษามลายูเพราะเป็นภาที่ใช้ในการสื่อสารกันระหว่างทั้ง 3 กลุ่มเชื้อชาติ นับตั้งแต่มาเลเซียก่อนจะรับเอกราชอีก เช่น การใช้ภาษามลายูในกลุ่มคนจีนบ๋าบ๋าในรัฐมะละกา

การดำเนินงานนโยบายภาษาแห่งชาติภายหลังจากปี 1967 นั่นคือการให้เวลา 10 ปี เพื่อให้เวลาแก่กลุ่มเชื้อชาติที่ไม่ใช่ชาวมลายูในการเรียนรู้และฝึกการใช้ใช้ภาษามลายู ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างภาษามลายูเป็นภาษาแห่งชาตินั้นมีดังนี้

ปี 1957 วิชาภาษาแห่งชาติ (ภาษามลายู) เป็นวิชาบังคับสำหรับโรงเรียนประถมและมัธยมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรัฐบาล
ปี 1958 มีการจัดตั้งชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาโดยใช้ภาษามลายูในการสอน จนในที่สุดได้กลายเป็นโรงเรียนมัธยมแห่งชาติ
ปี 1968 1.บันฑิตกลุ่มแรกที่มาจากสายภาษามลายูได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยมาลายา
2. จัดตั้งชั้นเรียนใช้ภาษามลายูในโรงเรียนมัธยม
3. เปิดสอน 5 วิชาด้วยภาษามลายูในชั้นประถมปีที่ 1 ในโรงเรียนประถมศึกษาอังกฤษแห่งชาติ (National English Type School)

ในปี 1968 ได้มีความพยายามหลายอย่างในการใช้ภาษามลายูด้วยการออกกฎหมายภาษาแห่งชาติปี 1967 ได้ผ่านรัฐสภา ดังนั้นประการแรกภาษามลายูจะเป็นภาษาแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม เกิดความไม่พอใจหลายอย่างระหว่างกลุ่มเชื้อชาติทั้งสาม อันเนื่องจากการออกกฎหมายว่าด้วยภาษาแห่งชาติ กลุ่มคนมลายูมองว่ากฎหมายนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สามารถปฏิบัติอย่างเต็มที่ในการสร้างภาษามลายูเป็นภาษาแห่งชาติ ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ใช่เชื้อชาติมลายูเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการกดขี่และกดดันต่อภาษาของพวกเขา

กล่าวได้ว่ามีชาวอินเดียเป็นจำนวนมากที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องการใช้ภาษามลายู แต่โดยภาพรวมแล้วพวกเขาเห็นด้วยกับนโยบายใหม่นี้ ส่วนสังคมเชื้อชาติจีนจะไม่แสดงปฏิกิริยา จะเงียบเฉย ส่วนหนึ่งของพวกเขายังคงคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่ของพวกเขาเห็นว่าไม่มีความหมายอะไร ถ้าพวกเขาต่อต้านนโยบายดังกล่าว กลุ่มเชื้อชาติจีนและอินเดียต้องยอมรับนโยบายนี้ด้วยความยืดหยุ่นของรัฐบาลโดยการคงไว้ซึ่งโรงเรียนประถมศึกษาในส่วนที่ยังสอนด้วยภาษาจีนและภาษาทมิฬ
จะอย่างไรก็ตาม กระบวนการปรับปรุงการศึกษาเพื่อทำให้ภาษามลายูเป็นภาษาในการเรียนการสอนก็ยังคงดำเนินการต่อไป ดังนี้

ปี 1969 เปิดการสอนด้วยภาษามลายูในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนประถมศึกษาอังกฤษแห่งชาติ
ปี 1970 1. วิชาทุกวิชาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีการสอนด้วยภาษามลายูในโรงเรียนประถมศึกษาอังกฤษ; วิชาภูมิศาสตร์และวิชาประวัติศาสตร์ สอนด้วยภาษามลายูในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนประเภทเดียวกัน

2.มีการสอนภาษามลายูในโรงเรียนมัธยมเทคนิค
ปี 1973 ทุกวิชาสายศิลป์ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จะสอนด้วยภาษามลายูในโรงเรียนมัธยมอังกฤษแห่งชาติ
ปี 1976 ทุกวิชาสายศิลป์ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะสอนด้วยภาษามลายูในโรงเรียนมัธยมอังกฤษแห่งชาติ
ปี 1978 สายศิลป์ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอนด้วยภาษามลายูในโรงเรียนมัธยมอังกฤษแห่งชาติ
ปี 1981 สายศิลป์, วิทยาศาสตร์, เทคนิคในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอนด้วยภาษามลายูในโรงเรียนมัธยมอังกฤษแห่งชาติ
ปี 1983 ทุกสถาบันการศึกษาจะทำการสอนด้วยภาษามลายูเป็นภาษาเดียว ยกเว้นโรงเรียนประถมศึกษาประเภทที่ใช้ภาษาจีนและอินเดียเป็นภาษาในการเรียนการสอน

ถึงอย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษของนักเรียนในประเทศมาเลเซียลดลง หลังจากที่มีการเรียนการสอนด้วยภาษามลายู ทำให้รัฐบาลมาเลเซียในสมัย ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัดเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายทางการศึกษา โดยการบังคับให้มีการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ นโยบายการศึกษานี้ได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการ นักการศึกษาสายภาษามลายู แต่ในอนาคตการบังคับให้มีการเรียนการสอนทั้สองวิชาดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษจะส่งผลดีในระยะยาว  
 
ในการดำเนินการปรับปรุงการศึกษานี้ ในการสอบทุกประเภทจะใช้ภาษามลายู และกระดาษข้อสอบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สูงจะย้ายมาจัดทำภายในประเทศแทน ระบบการศึกษาในประเทศมาเลเซียนั้นแบ่งระยะเวลาของการศึกษาดังกล่าว ดังนี้
ชั้นประถมศึกษาใช้เวลา 6 ปี
คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ,
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้เวลา 3 ปี คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3,
มัธยมศึกษาตอนปลายใช้เวลา 2 ปี คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 เทียบเท่าชั้น O Lavel ของอังกฤษ
 
ระดับเตรียมอุดมศึกษาใช้เวลา 2 ปี คือ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้น และ 6 สูง เทียบเท่าชั้น A Lavel ของอังกฤษ
 
ก่อนหน้านี้จัดทำกระดาษข้อสอบที่ประเทศอังกฤษ ก็ย้ายมาจัดโดยหน่วยจัดการสอนในมาเลเซีย ดังนั้นในปี 1978 การสอบ SRP (เดิมคือ Lower Certificate of Education หรือ LCE) สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้ภาษามลายูและการสอบ SPM (เดิมคือ Malaysia Certificate of Education หรือ MCE) ใช้ภาษามลายูในปี 1980 ส่วนการสอบ STPM (เดิมคือ High School Certificate หรือ HSC) ใช้ภาษามลายูในการสอบในปี 1982
 
กระบวนการเปลี่ยนแปลงการศึกษานี้ใช้เวลาถึง 30 ปี นับจากวันประกาศเอกราช โดยรัฐบาลเห็นว่าไม่สมควรจะเร่งการเปลี่ยนแปลง เพราะจะทำลายความสงบภายในสังคมได้ การปรับปรุงครั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของกลุ่มชนทุกเชื้อชาติโดยผ่านนโยบายทางด้านการศึกษา
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

1912

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน