นโยบายสวัสดิการสังคมของสิงคโปร์

สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) จึงมีการจัดตั้งระบบกองทุน Central Provident Fund (CPF)

1.ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง

สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) จึงมีการจัดตั้งระบบกองทุน Central Provident Fund (CPF) เมื่อวันที่
1ก.ค.2498 เพื่อบังคับการสะสมเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ โดยทุกเดือนลูกจ้าง[1]และนายจ้างจะสมทบเงินเข้ากองทุนของลูกจ้างในอัตราร้อยละ 20 สำหรับนายจ้าง และร้อยละ 10 สำหรับลูกจ้าง ปัจจุบันการคำนวณเงินสมทบขึ้นอยู่กับอายุของลูกจ้าง ลักษณะของการทำงาน และลักษณะประเภทของบัญชี CPF[2]

ต่อมา กองทุน CPF ได้พัฒนาเป็นระบบประกันสังคมเต็มรูปแบบ มีการเพิ่มบริการต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกในกองทุนฯ โดยสมาชิกในกองทุนฯ สามารถนำเงินสะสม CPF มาใช้ในโครงการต่าง ๆ อาทิ
  • การรักษาพยาบาล (Healthcare) โดยรัฐบาลจัดตั้งบัญชี Medisave เมื่อปี 2527เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ สะสมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของตนเองและสมาชิกครอบครัว และในปี 2533 รัฐบาลเริ่มระบบประกันค่ารักษาพยาบาล Medishield เพื่อประกันค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่ต้องรักษาเป็นเวลานานและมีความร้ายแรง โดยสมาชิกสามารถนำเงินในบัญชี Medisave มาชำระค่าเบี้ยประกันของโครงการ MediShield หรือของบริษัทประกันเอกชน
  • การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย (Home Ownership) รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับนโยบาย "Housing Policy” ที่เน้นให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของบ้าน/ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนประชาชนในการซื้อบ้านเคหะของรัฐบาล (Housing Development Board - HDB) ในราคาถูก และในอนาคตห้องพักดังกล่าวอาจมีราคาสูงขึ้น ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนของประชาชนและเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
  • ค่าเล่าเรียนบุตร (Education Scheme) สมาชิกสามารถนำเงินสะสม CPF มาชำระค่าเล่าเรียนบุตร (full-time tertiary education) ได้อีกทางหนึ่ง
  • การเพิ่มสินทรัพย์ (Asset Enhancement) สมาชิกสามารถนำเงินสะสม CPF ไปซื้อหุ้นรัฐบาลและหุ้นอื่น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์
นอกจากเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯ สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการทางด้านการศึกษา โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนค่าเล่าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลจำนวนมาก (ค่าเล่าเรียนในสิงคโปร์ ประมาณ 13-60 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน) ทำให้ค่าเล่าเรียนมีราคาถูก นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินด้านการศึกษาต่อครอบครัวที่รายได้น้อยกว่า 1,500 หรือ 1,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน

2.การดูแลผู้สูงอายุ

ประเด็นเรื่องผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญ เนื่องจากสิงคโปร์มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี คาดกันว่า ภายในปี 2573 ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุมากกว่า 65 ปี
 
สิงคโปร์มีการจัดตั้ง Ministry of Community Development, Youth and Sports MCYS) ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีการจัดตั้ง Ministerial Committee on Ageing เมื่อเดือน มี.ค. 2550 โดยมีนาย Lim Boon Heng รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและหาแนวทางช่วยเหลือให้กับประชาชนในสังคมผู้สูงอายุ ภายใต้คำขวัญ "Successful Ageing for Singapore” มีแนวนโยบายดังนี้
  • ส่งเสริมการจ้างงานและความมั่นคงทางด้านการเงิน (Enhance employability and financial security)
  • ให้การดูแลสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมในราคาย่อมเยา (provide holistic and affordable healthcare and eldercare) โดยเน้นให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด และตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล
  • ช่วยเหลือผู้สูงอายุในสังคม (Enable ageing–in-place) ให้ความสะดวกแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่สาธารณะ และในระบบขนส่งมวลชน และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรม ต่าง ๆ ในสังคม
  • ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีอายุยืน (Promote active ageing) โดยการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การบริการผู้สูงอายุในสิงคโปร์แบ่งเป็น
       (1) การดูแลระยะกลาง ได้แก่ การรักษาตามอาการที่โรงพยาบาลชุมชน และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับ
       (2) การดูแลระยะยาว ได้แก่ บ้านพักคนชรา การบริหารด้านการแพทย์ พยาบาล และการฟื้นฟูผู้สูงอายุที่บ้าน และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุระยะสุดท้าย (hospice) เป็นต้น
 
รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ผ่านการดูแลของหน่วยงาน ได้แก่ MCYSและคณะกรรมการกองทุน Central Provident Fund (CPF) Board เพื่อสร้างระบบให้บุคคลในครอบครัวมีหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชรา และหากไม่เลี้ยงดู พ่อแม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากบุตรของตนได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกในการดูแลประชาชนที่ประสบความลำบาก เพื่อลดภาระให้กับรัฐบาล

3.การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาเด็ก
 
เนื่องจากผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งคนสิงคโปร์มีอัตราการแต่งงานและการเกิดค่อนข้างต่ำ โดยอัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.2 จากสถิติในปี 2551 -2552 ดังนั้นรัฐบาลสิงคโปร์จึงส่งเสริมการมีคู่และเพิ่มจำนวนประชากร โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ MCYS
 
ทุก ๆ ปี นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์จะกล่าวย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มจำนวนประชากรในถ้อยแถลงวันชาติ National Day Rally)ว่า รัฐบาลสิงคโปร์
มีนโยบาย/มาตราการเพื่อส่งเสริมการแต่งงานและการมีบุตรอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
  • รัฐบาลได้ปรับปรุงแผนการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาเด็ก (Baby Bonus) ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2544 และได้ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทุก 3-4 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์มีบุตร โดยรัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้แก่บิดามารดา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
  • เงินสด (cash gift) สำหรับการคลอดบุตรคนที่ 1 และ 2 จำนวน 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/คน และเงินสดสำหรับบุตรคนที่ 3 และ 4 จำนวน 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/คน
  • บัญชีเงินฝากเพื่อการพัฒนาเด็ก (Children Development Account - CDA) หากบิดามารดาเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตรที่เกิดหลังวันที่ 17 ส.ค. 2551 รัฐบาลจะสมทบทุนให้อีกในจำนวนเท่ากัน (a dollar-for-dollar matching) โดย CDA สามารถนำไปใช้จ่ายศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนและค่าเล่าเรียนในโรงเรียนที่จดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ และใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของบุตรได้ทุกประเภท
  • วันที่ 20 ส.ค. 2551 สิงคโปร์ประกาศใช้นโยบาย "Marriage & Parenthood Package”เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนแต่งงานและผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้ประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
        (1) การแต่งงาน (Getting married) อาทิ บริการหาคู่ และเพิ่มวงเงินอุดหนุนเพื่อช่วยคู่แต่งงานซื้อที่อยู่อาศัย
        (2) การมีบุตร (Having Children) อาทิ การให้เงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลเพื่อช่วยสามีภรรยาที่มีบุตรยาก และการทำให้ระบบประกันสุขภาพครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการคลอด
        (3) การเลี้ยงดูบุตร (raising and caring for children) อาทิ การลดหย่อนภาษีให้บิดามารดาที่มีงานทำ การให้ Baby Bonus และการให้เงินอุดหนุนแก่ศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนและโรงเรียนอนุบาลเพื่อให้มีคุณภาพและประหยัด
        (4) การสนับสนุนสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว (Work-life support) อาทิ การอนุญาตให้มารดาลาคลอดได้ 4 เดือนโดยได้รับเงินเดือน (บริษัทจ่ายเพียง 2 เดือนแรก และรัฐจ่ายเงินเดือน 2 เดือนหลัง) และการอนุญาตให้บิดามารดาลาไปดุแลบุตรอายุต่ำกว่า 7 ปีได้ 6วัน/ปี โดยได้รับเงินเดือน

[1]ลูกจ้าง หมายถึง ชาวสิงคโปร์และผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสิงคโปร์ที่มีถิ่นพำนักมากกว่า 3 ปีขึ้นไปเท่านั้น

[2]บัญชีกองทุน CPF แบ่งเป็น 3 ประเภท คิอ บัญชีธรรมดา บัญชีพิเศษ และบัญชีการรักษาพยาบาล
 
 
 
ที่มา : East Asia Watch




 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

1492

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน