ไทย...สู่ฮับการบิน อาเซียนใน 5 ปี
การขนส่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น จากการที่จะก้าวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ธุรกิจโลจิสติกส์จึงเป็นสาขาที่ได้รับการเร่งรัดให้มีการเปิดเสรีก่อนภายในปี 2556 โดยมีสาระสำคัญคือ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของอาเซียนสามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้ และสามารถถือหุ้นในธุรกิจได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และเพื่อรองรับกระแสการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอุตสาหกรรมการบินของไทย กำลังเร่งพัฒนาศักยภาพความพร้อมให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล ตั้งเป้าขึ้นเป็นฮับการบินในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศของไทยเข้มแข็งติดอันดับ 28 ของโลก กระทรวงคมนาคมตั้งเป้า ไทยจะก้าวขึ้นสู่ “ฮับการบิน” ของภูมิภาคอาเซียนภายใน 5 ปี
สำหรับการเปิดเสรีการบินอาเซียนนั้น โดยหลักการ คือกรอบข้อตกลงพหุพาคีเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถขนส่งทางอากาศระหว่างกันโดยไม่จำกัดจำนวน ความจุ ความถี่ เป็นต้นปัจจุบันได้มีความคืบหน้าโดยไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 5 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์เวียดนาม และเมียนมาร์ เหลือประเทศสมาชิกที่ยังไม่ลงนามอีก 4ประเทศ แต่คาดว่าจะสามารถลงนามได้ครบภายในปี 2558 หากพิจารณาถึงผลในทางปฏิบัติภายใต้กรอบความตกลงการเปิดเสรีการบินดังกล่าวแล้ว อาจยังคงได้รับอุปสรรคจากกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับภายในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิกอยู่ แต่อย่างไรก็ดีจากกระแสการรวมเป็น AEC ก็ยังคงส่งผลให้เกิดความคึกคักต่ออุตสาหกรรมการบินอาเซียน
ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินของไทยยังคงแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ดีในทุกองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสายการบิน ท่าอากาศยาน การซ่อม-บำรุงอากาศยาน รวมไปถึงการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน และนับเป็นการพัฒนาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศอย่างเป็นรูปแบบ ซึ่งแนวโน้มธุรกิจการบินของไทย ยังพบว่า ภาพรวมธุรกิจการบินปีนี้มีการเติบโตไปในทิศทางที่ดี โดยประเมินได้จากแนวโน้มการขยายตัวของธรุ กิจสายการบินของไทย ซึ่งบริษัทสายการบินต่างมีแผนการขยายธุรกิจในปี 2556 อย่างชัดเจน ทั้งสายการบินไทยและการบินไทยสมายล์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินบางกอกแอร์เวย์สและสายการบินนกแอร์ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนเครื่องบินประจำการในฝูงบิน การเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และการขยายเส้นทางบินในตลาดอาเซียน
และจากจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่กึ่งกลางภูมิภาคอาเซียน ภาครัฐจึงได้มีการวางนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่นับว่าเป็นประเทศที่มีการวางเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินเช่นกันแล้ว พบว่าประเทศไทยและสิงคโปร์มีเส้นทางการบินเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกใกล้เคียงกัน แต่หากพิจารณาเฉพาะการเชื่อมโยงในภูมิภาคจะพบว่า ไทยและสิงคโปร์มีเที่ยวบินเชื่อมต่อประเทศสมาชิกอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ พิจารณาเฉพาะประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งเป็นประเทศที่ศักยภาพในการดึงดูดการค้า การลงทุนรวมถึงการท่องเที่ยว จะพบว่าประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศดังกล่าวมากกว่า จึงนับว่าไทยมีจุดแข็งในด้านเส้นทางการบินในภูมิภาคอาเซียนมากกว่าสิงคโปร์
นอกจากการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยหนุนหลักแล้ว ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ก็จัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี รวมถึงปัจจัยผลักดันมาจากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการขยายตัวของธุรกิจสายการบินต้นทุนตํ่า(Low Cost Airline) ซึ่งอุณหภูมิการแข่งขันร้อนแรง ผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินต้นทุนตํ่าต่างต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับการแข่งขันที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินต้นทุนตํ่ายังได้มีการขยายเส้นทางบินใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น
ฮับการบินในอาเซียน…เปิดฟ้าประเทศไทยกว้างไกลด้วยโอกาสในภูมิภาค
ที่มา thanonline.com