‘ประยุทธ์’ ขอบคุณหนุนนั่งนายกฯ แย้มราคาน้ำมัน-แก๊สลดอีก


ป

หัวหน้า คสช.ขอบคุณทุกฝ่ายสนับสนุนควบนายกฯ ออกโรงหย่าศึกปม อปท. ปัดมุ่งทำลายต้องการให้ปรับปรุงดีขึ้น พร้อมแย้มราคาน้ำมัน-แก๊สลดอีกลุยปรับให้สอดคล้องกับต้นทุน…

วันนี้ (29 ส.ค.57 ) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า เนื่องด้วยในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้กระผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และนับเป็นเกียรติยศอันสูงสุดในชีวิตของผมและวงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดไม่ได้ ตระหนักดีถึงภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ และต้องขอขอบคุณสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และมอบความไว้วางใจให้ ดำเนินการในเรื่องของการบริหารประเทศระยะต่อไป ขอขอบคุณอีกครั้งในแรงสนับสนุนต่าง ๆ เหล่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ยินดีที่จะรับภาระในการทำทุกอย่างให้ประเทศชาติก้าวไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน นับจากนี้ไปผมต้องรับผิดชอบในการนำพาประเทศชาติและประชาชนให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ร่วมกันพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของทุกคนในชาติต่อไป ในระยะที่ 2 การบริหารประเทศทุกๆ ด้าน ในบทบาทของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนงานเร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่ต้องการความรวดเร็ว โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องมีการหารือในการปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องระมัดระวังการก้าวล่วงกัน แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลกัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สุจริตและยุติธรรม ขอทุกคนอย่าได้กังวลกับตัวบุคคลให้มากนัก วันนี้เราต้องสร้างระบบทุกระบบให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบข้าราชการ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ส่วนราชการ อันได้แก่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ต้องร่วมมือกันในการพัฒนาปรับปรุงตนเองให้เข้มแข็ง เตรียมการเพื่อรองรับการปฏิรูป ซึ่งเราจะต้องทำให้ฝ่ายการเมืองมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ จะได้ร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคต และประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของพวกเราในขณะนี้ สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้ ทั้งในงานความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านเศรษฐกิจมีปัญหาอยู่หลายประการด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนเกษตรกร ประชาชนโดยรวมทุกภาคส่วนคงต้องร่วมมือกันทุกรูปแบบ”

“นายกฯ ตู่” ระบุ ไทยต้องใช้เวลาอีกกว่า 12 ปี ก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เข้าสู่ประเทศรายได้สูง พร้อมทุกด้าน เข้าสู่ประชาชนอาเซียน กล่าวว่า ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญหน้านั้น เรามีปัญหาที่สะสมสำคัญๆ มากมาย ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาส ปัญหามาเฟียผู้มีอิทธิพล ปัญหาชายแดน ทั้งในเรื่องของเขตแดน การหลบหนีเข้าเมือง สินค้าหนีภาษี ปัญหาด้านความมั่นคงภายใน ในเรื่องยาเสพติด อาชญากรรม อาวุธสงคราม การพนัน แรงงานต่างด้าว ซึ่งเราได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาบางส่วนไปแล้ว

ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะต้องเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวการณ์ของโลกด้วย การส่งเสริมการลงทุนในภาคต่าง ๆ การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย การปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดความเป็นธรรม ปัญหาปากท้องประชาชนเหล่านี้เป็นความท้าทายที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาค และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของไทยสู่ระดับภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน

เราสำรวจแล้วพบว่าปัจจุบันขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีจุดด้อยที่สำคัญในด้านระบบราชการ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ กฎหมายและกระบวนการเพื่ออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประกอบธุรกิจของนักธุรกิจต่างชาติ จากศักยภาพเราในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกกว่า 12 ปี เพื่อจะก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เข้าสู่ประเทศรายได้สูง ในขณะที่เพื่อนบ้านบางประเทศจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูงด้วยระยะเวลาอีกเพียง 6 ปีเท่านั้น เราคงต้องเร่งรัด

นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งมีมิติด้านเศรษฐกิจเป็น 1 ใน 3 เสาหลักจะเป็นความท้าทายสำคัญของไทยที่ต้องได้รับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางประเทศ ซึ่งเป็นทั้งประเทศหุ้นส่วนและคู่แข่งที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย สรุปประเด็นปัญหาที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานถูก และประเทศที่มีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยทรงตัวท่ามกลางการเปิดเสรีและการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น มีปัญหาด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ระบบการศึกษา การปลูกจิตสำนึก การดำรงซึ่งวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกฝังค่านิยม การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ทั้งนี้ปัญหาที่เรื้อรัง และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น คือความเหลื่อมล้ำของโอกาส สร้างรายได้ กระจายรายได้ และกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา คนจนรายได้น้อยขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาชั้นมัธยมปลายและอุดมศึกษา ตลอดจนคุณภาพการศึกษาของไทยยังคงต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขยายโอกาสในการสร้างรายได้ก็ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้การหลุดพ้นจากวงเวียนความยากจนเป็นไปได้อย่างยากยิ่ง

สำหรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศลดลง เนื่องจากข้อจำกัดด้านแรงงานและอัตราส่วนการพึ่งพิงของวัยชราที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง ผ่านค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการชราภาพที่เพิ่มขึ้น ไทยจึงต้องเร่งปรับปรุงระบบสวัสดิการของรัฐ เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของคนไทยอยู่แล้วเราต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราให้ดีที่สุด ก็เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้อายุยืนขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องหาทางที่จะดูแลคนเหล่านี้ให้ได้

ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ในเรื่องของการบุกรุกป่าไม้ ปัญหาขยะ ปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรมและสังคมเมือง เป็นโจทย์อีกประการหนึ่งที่เราเห็นเด่นชัด คือ การผลักดันเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติรุนแรงเกินไป ในการจัดตั้งโรงงาน หรือการประกอบกิจการต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรม

ที่ผ่านมานั้นเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตมาก พร้อมกับการก่อมลภาวะ โดยได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนการใช้พลังงานและการนำเข้าพลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะมีการนำวัสดุรีไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์จนเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนการใช้ก็ยังไม่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องโน้มน้าวผู้บริโภคและผู้ประกอบการตลอดประชาชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ปัญหามลภาวะและภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งจากการแสวงหาประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย ที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกบ่อนทำลายลง ทำให้ภาครัฐต้องมีการวางระบบช่วยเหลือ เยียวยา และป้องกันผู้ประสบภัยที่ทันต่อเหตุการณ์

นายกรัฐมนตรี และ หน.คสช. ยังกล่าวถึง ปัญหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า การแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับพันธสัญญาต่างๆ กฎหมายที่ส่วนราชการต้องแก้ไขเพื่อความสะดวกและความถูกต้อง แต่ค้างคาอยู่ในรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบัน คสช. ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือกฎหมายเหล่านั้นไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อมีการพิจารณาอย่างเร่งด่วนไปบ้างแล้ว ทุกกฎหมายนั้นได้ผ่านการพิจารณาในขั้นต้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผ่านที่ประชุม คสช. ในฐานะคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ล้าสมัย และแก้ไขปัญหาของประชาชนทั้งสิ้น

พลเอกประยุทธ์ กล่าวเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ว่า “ต้องขออภัยนะครับ อยากให้มีการปรับปรุง พัฒนาทุกอย่าง ตอนนี้อย่าโกรธกันไปมาเลยนะครับ เราต้องการให้ได้รับการยอมรับ ไม่ได้มุ่งหมายจะไปทำลายชื่อเสียง เกียรติยศหรือองค์กรของท่าน และอาจจะมีส่วนน้อยที่ต้องพัฒนาและปรับปรุง เราคงต้องช่วยกันกำกับดูแล เพราะว่าเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด ประชาชนจะได้ประโยชน์โดยเร็วหรือเป็นผลสัมฤทธิ์อะไรต่างๆ ในพื้นที่ จะได้จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อนทั้งสิ้น เพราะใกล้ตัวท่าน งบประมาณจำนวนไม่มากนัก และต้องขอบคุณทุกท่านใน อปท. ที่ให้ความร่วมมือให้เวลา คสช. เพื่อเดินหน้าสู่การปฏิรูป คสช. ไม่เคยนิ่งนอนใจต่อความต้องการของท่าน กำลังพิจารณาประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อทางแก้ไข เช่น ในเรื่องของการคัดสรรข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง

สำหรับวันนี้ก็เตรียมการให้เข้าดำเนินการแก้ไข เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อจะทำให้เกิดความเป็นธรรม พอใจของพี่น้องทุกฝักทุกฝ่าย อะไรที่ทำไปแล้ว แล้วไม่เรียบร้อย มีปัญหาก็แก้ไขได้ ใจเย็นๆ ก็ขอให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่ายก็แล้วกัน โดยในส่วนที่เรื่องใดก็ตามที่ คสช. สั่งการไปแล้วเป็นการเร่งด่วน ถ้าไม่เหมาะสม ถ้ามีปัญหาก็นำเข้าแก้ใน คสช.ได้ ถึงแม้จะเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม เราถึงมี สนช. ไว้ ในส่วนที่จะต้องแก้ไขส่วนใหญ่นั้น ต้องไปแก้ในเรื่องของสภาปฏิรูปและมีประชาชนมาให้ความคิดเห็น เสนอเข้ามาในสภาปฏิรูปเพิ่มเติม อันนี้ผมถือว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นการปฏิรูปนั้นเป็นส่วนสำคัญไม่ใช่ คสช. จะไปผลักดันในทุกเรื่องได้ กรณีการพูดถึงกันในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง ซึ่งเราได้แก้ไขไปในชั้นต้น เพื่อความสงบเรียบร้อยในช่วงนี้ ในระดับต่อไป จะได้มีการทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

เมื่อกล่าวถึงกรณีหลวงปู่พุทธะอิสระโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช. กล่าวถึง ความเคลื่อนไหว ของกลุ่มม็อบ พลังงาน และยางพารา และอื่นๆ ว่า ขอให้นำการแก้ไขทั้งระบบ เช่น การปรับโครงสร้าง ราคายาง ราคาพลังงานซึ่งมีความเกี่ยวพันมากมาย ไปแก้ในภาพใหญ่ที่สภาปฏิรูปฯ เรื่องการแก้ปัญหาเร่งด่วน ขณะนี้ คสช. แก้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องข้าว เรื่องยาง เรื่องต่าง ๆ ไม่ได้หยุด พูดกันทุกวันคุยกันทุกวัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “คสช. ไม่เคยนิ่งนอนใจสักเรื่องหนึ่ง ที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ผมบอกแล้วว่าเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาที่ต่อเนื่องยาวนานไปอีก เพราะฉะนั้นวันนี้ขอร้อง อย่าเพิ่งประท้วงต่อต้านเลย”

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาก็ได้ให้มีการพูดคุยไปแล้วกับสมาคมต่างๆ 5-6 สมาคมก็เข้าใจดี สำคัญอยู่ที่ว่า เวลาไปถ่ายทอดกันอะไรกันขอให้ถ่ายทอดให้ครบ และขอประเด็นเดียวเท่านั้นเอง ถ้าช่วยกันมันก็แก้ได้ ถ้าไม่ช่วยกัน มันก็จะกลับไปแบบเดิมอีก เพราะถ้าเราแก้แบบเดิม แก้ที่ปลายเหตุก็จะแก้ที่ปลายเหตุตลอดไป เราก็แบบนี้มาเกือบทั้งชีวิตแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องแก้ทั้งต้นเหตุ กลางเหตุและปลายเหตุ ติดขัดด้วยข้อกฎหมายหลายอย่าง “กฎอัยการศึก วันนี้ที่มีไว้ นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปปิดกั้นท่าน ผมไม่เคยใช้กฎอัยการศึกไปปิดกั้นใครเลย เพียงแต่ว่า ทำอย่างไร บ้านเมืองจะสงบเท่านั้นเอง ถ้าท่านไม่ได้ทำอะไรที่มันเกิดปัญหากับความสงบเรียบร้อย ท่านเสนอความคิดเห็นใด ๆ ก็ตามมา ไม่ได้เป็นการปลุกระดมคนขึ้นมา มาเดินขบวน มาขัดแย้งกัน มันก็ไม่จบสักทีนะ ขอร้อง ขอสักระยะหนึ่ง ก็วันนี้พูดไปสิ ว่าเรามีกฎอัยการศึกทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่ใช่กฎอัยการศึกที่มีอยู่ทำให้บ้านเมืองไม่เรียบร้อย แต่โอเคอาจจะรู้สึกว่าถูกปิดกั้น บ้างอะไรบ้าง ใครจะมาเที่ยวก็มาสิครับเชิญเขามาเรามีกฎหมาย เข้าปลอดภัยกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เดิมไม่มีกฎหมายนี้ปลอดภัยไหมละครับ ฝากด้วยบ้างด้วย คิดไปอีกมุมหนึ่งบ้าง ว่าบ้านเมืองเราอยู่ใน ระยะเวลาอะไรเราควรจะมีกฎหมายอะไรไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นก็วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปปิดกั้น อยากเสนออะไรไปเสนอมา เป็นที่เป็นทาง จะจัดสถานที่ให้ ส่งเจ้าหน้าที่ไปถกแถลงกันด้วยความสงบ บางอย่างแก้ไขทันทีไม่ได้ เรื่องนี้เราให้กรณีพิเศษ”

สำหรับ เรื่องพลังงาน อยากให้ทุกฝ่ายไปใคร่ควรไว้ว่า เราจะพูดคุยกันได้อย่างไรทั้งสองฝักสองฝ่ายหรือสามฝ่าย ก็ไม่รู้ ถ้านำต้นทาง กลางทาง ปลายทาง มาพูดกันโดยไม่ได้จัดระเบียบกัน ไม่รับฟังซึ่งกันและกันเลยพูดกันไม่รู้เรื่องแน่นอน เพราะฉะนั้นต้นทางนี้ คือข้อกฎหมาย ความเป็นมาของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทอะไรก็แล้วแต่ นั้นคือต้นทาง เป็นตัวกำหนด จากนั้นมาก็ไปสู่กลางทางคือผู้ประกอบการซึ่งเรามีทั้งของรัฐบ้าง ของเอกชนบ้าง และก็มีทั้งการลงทุนร่วมกับรัฐ บางอันก็เป็นการลงทุนของเอกชน บางอันรัฐก็ร่วมกับเอกชนซึ่งมีปัญหามากมาย เพราะผิดเพี้ยนมาตลอด อยากจะพูดอย่างนั้นถ้าไม่พูดก็ไม่รู้กัน เพราะฉะนั้น พอปลายทางมาก็คือประชาชนผู้บริโภค คราวนี้ถ้าทุกคนนำทั้ง 3 เรื่องมาพูดพร้อมกันมันไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอยากให้ฟังอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ถ้าจะฟังได้ผมว่าจะจัดระเบียบอย่างนี้นะครับ มีเรื่องของต้นทางก่อน มาอย่างไรอะไรอย่างไร ความเป็นมาจบก่อน พอจบคำว่าต้นทาง ถามเฉพาะเรื่องต้นทางจะเอากันอย่างไร อันไหนตกลงกันได้ อันไหนเข้าใจ อันไหนไม่เข้าใจก็เก็บไว้ก่อน อย่าเพิ่งทะเลาะกัน ต้องมีทั้งเข้าใจไม่เข้าละครับ ผมยอมรับ พอมาถึงที่สองตรงกลาง เอาผู้ประกอบการ สงสัยตรงไหนเขาไม่โปร่งใสตรงไหนก็บันทึกกันไว้ เสร็จแล้วก็ไปตรงท้าย แล้วจะทำอย่างไรกันให้การบริการประชาชนจะเอาอย่างไร ราคาควรจะเป็นเท่าไร ทำไมถึงสูง ถึงต่ำ ก็พูดกันทีละตอน ๆ แบบนี้ พอพูดเรื่องแรกไปถามเรื่องที่สาม พูดเรื่องที่สองถามเรื่องที่สี่ อย่างนี้ไม่มีทางจบหรอกครับและก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย “เป็นการปลุกระดมคนที่ฟังข้างใดข้างหนึ่งเป็นหลัก ใครก็ไม่อยากมาจัด จัดแล้วก็เป็นปัญหาทำให้พระเจ้าต้องเดือดร้อนไปด้วย ฝากไว้ด้วย ขอบพระคุณ ครับท่านที่กรุณาเป็นผู้ดำเนินรายการให้ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือความไม่เข้าใจนั้นไม่บานปลายออกไป ผมจะจัดให้บ่อยๆ นะครับ กลับไปเรียบเรียงกรุณาเรียบเรียงเถอะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อสำหรับเรื่องพลังงาน คราวหน้าอาจจะเรื่องผลิตผลการเกษตร ต่อไปเรื่องน้ำ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องที่ดินทำกิน เปิดเวที ให้แล้วมาคุยกันว่า ตั้งหลักมาให้ถูก รัฐพูดก่อนและก็ประชาชนถามและก็ตอบ บันทึก ตรงหรือไม่นั้น จบไปอีกเป็นเรื่องเรื่อง ถ้าอย่างนี้ลักษณะการปฏิรูปต้องเป็นอย่างนี้ไม่ใช่คุยเรื่องหนึ่ง ถามเรื่องสาม ตีกันไม่จบและไม่สุภาพ ใช้คำพูดไม่สุภาพด้วยอะไรด้วย อย่างนี้ไม่ได้ เราเป็นคนไทยที่เจริญแล้ว “ขอร้องอย่าไปชี้นำกันแบบนี้ รุนแรงพูดจาหยาบคาย โห่ฮาป่า อย่างนี้ผมว่าไม่เหมาะ ไม่ใช่การปฏิรูป อย่างนี้คือการทะเลาะเบาะแว้งกันต่อไปผมก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก นั่นแหละครับ เป็นปัญหาที่ต้องมีวันนี้ ถ้าปล่อยก็ทะเลาะกันแบบนี้อีก ไม่ได้ ท่านต้องหยุดของท่านให้ได้ก่อน อย่าเรียกร้องแต่จากเราอย่างเดียว เพราะฉะนั้นต้องดูการพัฒนาการของแต่ละอย่างด้วย ผมเข้าใจนะครับและกรุณามองกัน แต่ละฝ่ายก็ฝ่ายหนึ่งต้องมองอีกฝ่ายให้เกียรติซึ่งกันและกัน เขาไม่ใช่จำเลยเราไม่ใช่โจทก์ ประชาชนก็ไม่ใช่จำเลยไม่ใช่โจทก์อีก ทุกคนคือคนไทยต้องพูดกันให้รู้เรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในเรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สอะไรก็แล้วแต่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ในขณะนี้มีแนวโน้มลดลงถึงแม้จะมีสงครามอยู่บ้างก็ตาม อาจจะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งฐานะ “เรา คสช. ก็ได้พิจารณาว่าอาจจะมีความจำเป็นต้องมีการปรับราคาให้สอดคล้องกับราคาต้นทุนน้ำมัน และให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและไม่ต้องการจะบิดเบือนราคาตลาดต้องการให้ทุกคนได้เห็นว่า ถ้าทำอย่างนี้จะเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวท่านลองดูแล้วกันนะครับ ก็อย่าเพิ่งเรียกร้อง อย่าเพิ่งโวยวาย กำลังดำเนินการอยู่ แล้วเดี๋ยวจะเห็นว่าออกมาอย่างไร ส่วนที่เหลือต่อไป ก็ไปว่ากันในเมื่อมีรัฐบาลเป็นระยะยาวหรือยั่งยืนหรืออะไรก็แล้วที่ท่านต้องการ แต่ต้องปรับให้ตรงกันก่อนเราจะแก้ไขปัญหาเร่งด่วนไปก่อน ให้เห็นว่าทำอย่างนี้อย่างที่ท่านต้องการแล้วมันจะเกิดอะไร ถ้าไม่ทำมันจะเป็นอย่างไรทุกอย่างต้องการให้ท่านเรียนรู้ครับ เพราะฉะนั้นอย่างเพิ่งทะเลาะกัน รับฟังข้อมูลให้ได้และตรวจสอบเป็นประเด็น ๆ ไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมกล่าวย้ำ ข้อมูลในโซเชียลมีเดียต้องระมัดระวัง มีทั้งถูกไม่ถูก มีทั้งคนละฝ่าย บางคนผมก็ไม่ทราบว่านำมาจากไหน บางอย่างก็จริง บางอย่างก็ดูฟังแล้วก็ฟังได้ แต่พอพูดนำมารวมกันแล้วไม่เข้าใจ แสดงว่าไม่เข้าใจขั้นตอน ผมไม่ได้หมายความว่าฝ่ายนี้ฝ่ายรัฐจะถูกทั้งหมด หรือผิดทั้งหมด ท่านต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราจะเร่งรัด ในสภาปฏิรูปฯให้ดำเนินการ ช่วงนี้อยากให้ทำความเข้าใจกันก่อนนำปัญหาที่มีอยู่มาตั้งไว้ และไปถามกันต่อ อันไหนที่ตกลงได้แล้ว หรือเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องถามกันอีก เสียเวลา เวลามีน้อยอยู่แล้วด้วย

“นายกฯประยุทธ์” เผยส่ง “เลขาฯ สมช.” ไปมาเลเซีย สัปดาห์หน้า เตรียมเดินหน้าการเจรจา ย้ำต้องคุยกับทุกกลุ่ม หวั่นคุยกลุ่มเดียว ยอมหยุด แต่กลุ่มอื่นไม่หยุด/ห่วงการปล่อยข่าวใน โซเชียล มีเดีย กล่าวหา ทหารใช้ความรุนแรง เผยบอกผู้นำศาสนาไปแล้ว ไม่อยากให้มีทหาร พื้นที่ก็ต้องสงบสิ ทหารอยากกลับบ้านอยู่แล้วยันต้องบังคับใช้กฎหมาย มีหลักฐานชัดเจน เปรย แก้ใต้ด้วยยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ตัวบุคคล ออกตัว เปลี่ยน “แม่ทัพภาค 4” ไม่มีผล หลังมีข่าวสะพัด ส่ง “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” แม่ทัพภาค 4 กลับกรุงเทพฯ” นั่งพลเอก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึง การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คสช.และ รัฐบาลต่อไปให้ความสำคัญ ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้ปรับการพูดคุย เปลี่ยนแปลงไปให้เป็นรูปแบบ เป็นมาตรฐานมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คราวนี้ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.)และคณะ ไปหารือเตรียมการในการจะเดินหน้าต่อไปให้เร็วที่สุด เพราะผมเป็นห่วงพี่น้องประชาชนคนไทยพุทธและไทยมุสลิม ผมอยู่ในสถานการณ์มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง มีทั้งบางส่วนพัฒนาการดีขึ้น บางส่วนก็แย่ลงเพราะความไม่เข้าใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ก็มีการตอบโต้กันในโซเชียล เน็ตเวิร์ก มากมาย อันนี้ทำให้เกิดปัญหากับเรามาก ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นทั้งฝ่ายเรา ฝ่ายเขา ทุกคนหวังดี ฝ่ายเขาก็คงไม่หวังดี แต่ทำให้เสี้ยมให้ทั้งสองฝ่ายนั้นตีกันมาโดยตลอด และก็สิ่งที่เขาทำวันนี้ไม่มี ผมไม่เคยเห็น ไม่เคยสั่งลูกน้องหรือใครไปทำร้ายประชาชน ผมยืนยันถ้ามีก็นำหลักฐานมาให้มันชัดเจนจะได้ลงโทษ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องปัญหาภาคใต้คงเป็นเรื่องของการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมที่เขาบอกมานะครับ

“เรื่องการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ วันนี้ผมก็ยังไม่ได้สั่งให้ใครไปทำอะไรแบบนั้น มีแต่เพียงบอกให้ใช้กฎหมาย บางครั้งก็อาจจะพูดจาไม่เข้าหูกันบ้าง บางทีก็ถูกต่อว่าอะไรแถวนี้มันไม่ได้ ทุกคนมีหัวใจ เจ้าหน้าที่มีหัวใจที่จะดูแลท่านอยู่แล้ว ถ้าพูดไปพูดมาก็มีอารมณ์เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องอดทน มันทำให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน เราคงไม่คิดจะทำร้ายเด็ก ผู้หญิง ประชาชน ไม่ว่าจะไทยพุทธ ไทยมุสลิม ตำรวจ ทหารไม่ใช่คนใจร้ายพอที่จะไปฆ่า ไประเบิด ผู้บริสุทธิ์โดยตั้งใจ”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันก่อน ผู้นำศาสนาเข้ามาพูดในทำนองนี้ว่า เราใช้ความรุนแรง ผมก็อยากจะกราบท่านว่า เราไม่เคยมีจิตใจร้ายอย่างนั้นเลย

“ถ้ามีอย่างนั้นผมก็ปล่อยให้ท่านรบกันไป ทหารก็ไม่ต้องไปอยู่นะครับ ไม่ได้ วันนี้เป็นกติกาของโลกเขา ถ้าไม่สงบก็ต้องมีทหาร ถ้าท่านไม่ให้มีทหารท่านก็สงบสิครับ ทหารก็ได้กลับบ้าน ถ้าสงบไม่ฆ่ากัน ไม่ระเบิดกัน ไม่มีความวุ่นวาย เราก็พัฒนาได้แล้วจะมีทหารไปทำไม ไม่มีใครอยากจะลงมาอยู่ อยู่แล้ว ถ้าไม่หวังว่าเพียงดูแลประชาชนที่บริสุทธิ์ ก็ขอให้ใคร่ครวญให้ดี” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมนั้น ทำได้ยากในภาคใต้ บางคนบอกทำไมเก็บหลักฐานไม่ได้เลยก็พื้นที่ที่มีกองกำลัง มีฝ่ายสนับสนุนอยู่ในพื้นที่มากพอสมควร เราใช้เวลาเหมือนปกติก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นหลักฐานบางอย่างก็อ่อน บางอย่างก็เก็บไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลา ใช้เทคโนโลยีบ้าง ใช้เครื่องไม้เครื่องมือ สารเคมีมันใช้เวลาหมด สถานการณ์เป็นอย่างนั้น เมื่อเข้าไปก็มีเวลาไม่มากนัก ต้องเก็บรวบรวมให้เร็วที่สุด บางครั้งก็พลาด พลาดตรงไหนมันไม่สมบูรณ์ ทำให้คนเหล่านี้ก็หลุดออกไปเหมือนกัน แทนที่หลุดไปแล้วจะดีใจว่าเราไม่ได้ไปไล่ล่า กลายเป็นว่าจับคนผิดคนถูก บางคนถูกทั้งนั้น แต่หลักฐานดำเนินคดีไม่ได้หรือไม่ก็เรื่องการใช้กฎหมายปกติ การสอบสวนต่างๆ การพิจารณาคดีปกติหมด ล่าช้าเสียเวลาและคั่งค้างกันเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องใช้การพิจารณาความพิเศษ การสนับสนุนพิเศษ มีคณะลงไปเพิ่ม มีศาลเพิ่ม ศาลทหารใช้ได้หรือไม่ เราให้ความเป็นธรรม ศาลทหารก็เหมือนศาลปกติ เพียงแต่รวดเร็วขึ้นเพราะเรามีความพร้อมอยู่มากกว่า

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันได้รองรับการรองรับสถานการณ์ เราสามารถจะรวมได้อะไรได้ในทำนองนี้ แต่ยืนยันว่าไม่ต้องการใช้กฎหมายจริงๆ แล้วไม่ต้องการใช้ ถ้าท่านเลิกใช้ความรุนแรงเราก็ใช้กฎหมายปกติ ต้องรีบดำเนินการให้ได้โดยเร็ว

“การพูดคุยต้องไปคุยกันมาในทุกมิติทุกกลุ่มด้วย ไม่ใช่คุยกลุ่มนี้ อีกกลุ่มหนึ่งไม่เลิก อย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาปัจจุบันมียุทธศาสตร์ชัดเจน ดำเนินการต่อเนื่อง จะเปลี่ยนใคร การเปลี่ยนผู้น้อย เปลี่ยนผู้พัน ผู้การ เปลี่ยน ผบ.พล แม่ทัพ ไม่มีผล เพราะการทำงานของกองทัพหรือตำรวจเขาทำงานโดยนโยบายหรือแผนงานโครงการทั้งสิ้น ไม่ใช่เปลี่ยนคน 2 ปีก็เปลี่ยนทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ใช่ เขาทำงานด้วยระบบ

อย่างกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารบกมามี 36 คนแล้วผมเป็นคนที่ 37 ผมก็ทำตามที่ 36 ทำมา 35 ทำมา อันนี้เป็นหลัก ต่อมาผมก็พัฒนาในส่วนของ 37 ทำ ก็เป็นอย่างนี้ทุกที่ ระดับแม่ทัพภาค 4 ก็เหมือนกัน เหมือนกันทุกอย่าง”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมชี้แจงเรื่องการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ว่า ทุกคนก็เป็นกังวลช่วงนี้ ก็ผ่านจาก คสช. มา เบาลง กลับมาเรื่องคณะรัฐมนตรี เอาอีกแล้ว มีปัญหา มีทหารมาก ทหารน้อย ผมว่าไม่ใช่ปัญหา ดูว่าปัญหาเกิดที่ไหนแล้วเราจะแก้อะไร วันนี้เราต้องการให้มีประชาธิปไตย และตรารัฐธรรมนูญชั่วคราว “เพราะฉะนั้นผมว่า อย่ามาดูตรงทหารมาก ทหารน้อย ผมใคร่ครวญ ดูกันแล้ว ถ้าไม่มีทหารเลยก็ไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าความมั่นคงก็มีปัญหา ความสงบเรียบร้อยก็มีปัญหา บางคนบอกว่า เดี๋ยวต้องเอารุ่นพี่ไม่มี รุ่นน้องไม่มี แล้วถ้าผมไม่มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนที่ไว้ใจเข้ามาทำงานก็ไม่ได้อีก ผมพยายามที่จะเกลี่ยสัดส่วนต่างๆ ให้ดี อย่าระแวงกันจนเกินไปนัก และเถียงกันไปจนหาคนดีไม่ได้เลย

“ในวันนี้ผมไม่เข้าใจ ไม่จริงทุกอย่าง ผมเป็นคนตัดสินใจทั้งสิ้น ใครจะว่า ใครจะเสนอ ใครจะพูดกับใคร เดี๋ยวดูกันต่อไป ถ้าเขาทำงานไม่ดีก็ปรับใหม่ได้หมด รัฐบาลปรับได้ไม่รู้กี่ครั้ง ใครไม่ดีก็ออกไป ใครทำทุจริตก็ติดคุกไป ก็มีแค่นั้นจะกลัวอะไร ใช้กระบวนการประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปไล่ล่าฆ่าฟัน

วันนี้ผมไม่ใช่พรรคไหนเลย เป็น “พรรคของคนไทย เดินหน้าประทศไทย” เพราะฉะนั้นไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ไม่มี ผมต้องการให้ทุกคนมองชาติเป็นหลัก อย่าสนใจตัวบุคคลให้มากนัก เพราะฉะนั้นเราคงไม่ปล่อยให้ใครมาขัดขวางการทำหน้าที่ มีแต่อยากให้มาสนับสนุนเราให้มากขึ้น ทุกคนมาแสดงความคิดเห็น ผมรับฟังความคิดเห็นทุกคนที่ทำงาน

วันนี้ได้ผมฟังทุกคนมา บางครั้งก็ปวดหัวเหลือเกินเพราะข้อเสนอมาก เป็นร้อยเป็นพันเรื่องผมก็รับทุกเรื่อง นำมาใคร่ครวญ นำมาไตร่ตรอง นำมาสั่งการ นำมาไปหารือ ที่ปรึกษามีไม่รู้กี่คณะไม่ใช่คณะเดียว มีทั้งในระบบ นอกระบบ Out Source ต่าง ๆ มากมายไปหมดนักวิชาการมีมากมาย ผมก็ต้องดูทั้งหมดแล้ว มาย่อยให้ตรงกัน แล้วอะไรทำ ได้ก็ทำนั่นคือการทำงานของผม วันหน้าก็ต้องเป็นแบบนี้ไม่ต้องไปกังวลกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ เพราะทั้งหมดต้องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่แล้ว และนายกรัฐมนตรีเป็นคนอนุมัติหลักการจะนำเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ยังไม่นำเข้า ใครจะรักใคร่อะไรมาก็แล้วแต่ ผมต้องใช้การตรวจสอบที่ดี ผมต้องวางแผนตรงนี้ไว้แล้ว ผมคงไม่ให้มีการอนุมัติโดยการที่เรียกว่า “ยัดไส้”อะไรทำนองนี้ ไม่ได้หรอก ผมไม่ยอมอยู่แล้ว ตัวผมเองตั้งมั่นว่าเราไม่ทุจริต แต่ใครก็ทุจริตไม่ได้ แต่สำคัญเราจะรู้ได้อย่างไร นั่นไปหาทางช่วยผมโน้น”

การที่วันนี้เกิดปัญหาอะไรก็ตาม ข้าราชการ บางพวกบางฝ่าย ผลประโยชน์สมยอม ประชาชนก็ไม่ปฏิเสธ เพราะฉะนั้นคงต้องสร้างทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม คุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังเด็กตั้งแต่ประถมขึ้นไป ให้เกลียดชังการทุจริต ไม่สมยอม เอื้อประโยชน์ อะไรเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ต้องเริ่มให้หมด เริ่มปลูกฝังตั้งแต่วันนี้ ก็ต้องหลายชั่วคนเหมือนกันถึงจะแก้เรื่องนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องของการเพาะบ่มมาตั้งแต่เด็ก

สรุปแล้ว ประเทศไทยดูจะมีปัญหาไปมากมายเหมือนกัน ทุกเรื่องผมพูดมา 11 ครั้งไปแล้วครั้งที่ 12 ก็ยังพูดเรื่องปัญหาอีก เพราะผมรู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปข้างหน้าไม่ได้ ท่ามกลางความขัดแย้ง ท่ามกลางความปัจจัยจากภายใน ภายนอก เพราะฉะนั้นประเด็นหลักคือความเข้าใจในนโยบายของรัฐ การบริการของหน่วยงาน แผนงานด้านเศรษฐกิจต้องชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกษตรกรรมแก้ปลายเหตุมาตลอด ต้องกลับไปแก้กลางเหตุและต้นเหตุ ผมใช้คำง่ายๆ และสาเหตุถ้าเราแก้ปลายเหตุอย่างเดิมก็แก้เหมือนเดิม ปัญหาก็กลับมาทับใหม่ ปัญหาใหม่ก็เกิด ปัญหาเก่าก็ทับซ้อนอยู่มันจะไปแก้อะไร ต้องสร้างระบบใช้เวลา ถ้าเดือดร้อนก็เดือดร้อนทุกอย่าง ทุกอย่างเดือดร้อนไปหมดถ้าไม่ช่วยกัน

“ผมฝากความหวัง อนาคตของประเทศชาติอย่างยั่งยืน กับ สปช. และคณะที่ทำการร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องช่วยกันทำวางรากฐานบ้านเมืองในอนาคต ในทุกประเด็นที่เราเป็นปัญหาอยู่ ความขัดแย้งทั้งการพัฒนาประเทศชาติ สร้างความเข้มแข็ง

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ chaoprayanews.com ดูทั้งหมด

558

views
Credit : chaoprayanews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน