จุฬาฯ พัฒนางานวิจัย หวังเป็นมหา’ลัยวิจัยแห่งชาติ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยมายาวนาน เพื่อสร้างองค์ความรู้สำหรับผลิตบัณฑิตอันพึงประสงค์ และเพื่อตอบโจทย์วิจัยให้กับประเทศและวงการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ก่อตั้งส่วนส่งเสริมและพัฒนาวิจัยเป็นมหาวิทยาลัยแรกของประเทศ และมีการตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยในนาม “กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช” เพื่อนำดอกผลมาใช้ในการวิจัย นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบันนี้มีสถาบันวิจัยถึง 9 สถาบันด้วยกัน ได้แก่ สถาบันการขนส่ง สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ สถาบันไทยศึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ สถาบันภาษา สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ สถาบันวิจัยพลังงาน สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สถาบันวิจัยสังคม ศูนย์วิทยทรัพยากร และสถาบันเอเชียศึกษา

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งศูนย์บริการวิชาการขึ้นเพื่อทำหน้าที่นำโจทย์วิจัยจากภายนอกมาให้อาจารย์และนักวิจัยได้ อีกทั้งยังได้จัดตั้งสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นมาเพื่อเอาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยมาสร้างรายได้ ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากการวางโครงสร้างทางการวิจัยแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วางกลยุทธ์สำหรับสร้างนักวิจัยมืออาชีพ โดยการให้ทุนพัฒนาอาจารย์ใหม่/นักวิจัยใหม่ ทุนสำหรับการสร้างหน่วยปฏิบัติการวิจัย (RU) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (CE) โดยในปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหน่วยปฏิบัติการวิจัยมากกว่า 100 หน่วย และมีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งในระดับชาติและมหาวิทยาลัยมากกว่า 20 ศูนย์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กำหนดบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ โดยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยระดับโลก เน้นการทำวิจัยทั้งเพื่อยกระดับการแข่งขันระดับโลก การทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของประเทศด้วยมาตรฐานสากลและเพื่อสร้างบุคลากรของประเทศให้สามารถใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญคือ การกำหนดแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในประเด็นและปัญหาที่ประเทศไทยและโลกกำลังจะเผชิญในอนาคต ปี 2020 โดยในปี 2551 ได้เริ่มกำหนดให้มีกลุ่มวิจัยหลัก 7 กลุ่ม คือ กลุ่มวิจัยด้านสุขภาพ กลุ่มวิจัยด้านอาหารและน้ำ กลุ่มวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มวิจัยด้านพลังงาน กลุ่มวิจัยด้านสังคมผู้สูงวัย กลุ่มวิจัยวัสดุขั้นสูง กลุ่มวิจัยความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งเป็นการรวมศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องและนักวิชาการเฉพาะเรื่องเข้ามาบูรณาการให้เป็นการวิจัยแบบสหศาสตร์ที่ครอบคลุมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้เน้นการบริหารจัดการการวิจัยที่เป็นองค์รวม มีประสิทธิภาพ มีการติดตามและประเมินผลแบบอัตโนมัติ

จากการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม การขาดความเป็นธรรมในสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่าการจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในระยะยาว ให้สังคมและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศ การพัฒนาการศึกษา และการวิจัยจะเป็นพื้นฐานในการตอบโจทย์ปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี จึงได้พิจารณากำหนดให้มีการจัดตั้งกลุ่มวิจัยอาเซียนศึกษาขึ้น นอกจากนั้น ได้นำการวิจัยด้านจัดการภัยพิบัติเข้าไปเพิ่มในกลุ่มวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจัดการภัยพิบัติ และนำโจทย์วิจัยด้านการพัฒนาสังคมเข้าไปเพิ่มในกลุ่มวิจัยความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกลุ่มวิจัยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อีกกลุ่มจนกลายเป็น 8 กลุ่มงานวิจัย หรือ 8 Custer ที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันที่ 23/04/2557 เวลา 7:28 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

183

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน