จับตากลุ่มปิโตรเคมีขาพุ่ง

ไออาร์พีซีตั้งเป้าผู้นำในอาเซียน

ในปี 2557 กลุ่มอุตสาหกรรมเตรียมตีฆ้องรับทรัพย์กันอื้อซ่า กับโอกาสขาขึ้น โดยเฉพาะไออาร์พีซีเจ้าของโรงกลั่นและปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ครบวงจรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คาดจะมีความแข็งแกร่ง ระบุจะเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ผลิตสินค้าคุณภาพพิเศษมากขึ้น ขณะที่เล็งมีการขยายการลงทุนในบางผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าของกลุ่มปิโตรเคมี

IRPC ผู้นำปิโตรฯ ครบวงจร


นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไออาร์พีซีเป็นบริษัทปิโตรเคมีครบวงจรรายแรกของไทย ทำให้แต่ละหน่วยผลิตมีขนาดเล็ก ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงเมื่อเทียบบริษัทปิโตรเคมีอื่นๆ ดังนั้นบริษัทจึงหันมาเน้นการผลิตสินค้าเกรดพิเศษเพื่อเพิ่มมูลค่าแทนการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไป ซึ่งเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษนี้มีความต้องการใช้ในตลาดไม่มาก ซึ่งเหมาะกับกำลังการผลิตของไออาร์พีซีอยู่แล้ว

โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Wood Composite, Green ABS และ Anti Bacteria ซึ่งน่าจะได้รับการต้อนรับจากตลาดด้วยดี แม้ว่าปริมาณความต้องการตลาดยังน้อยอยู่ก็ตาม

สำหรับงบลงทุนในปีนี้บริษัทฯ ตั้งไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่อเนื่องโครงการ (UHV) ภายใต้โครงการฟีนิกซ์ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2558 หลังจากนั้นบริษัทมีแผนจะลงทุนโครงการต่อยอดฟีนิกซ์อีก 6 โครงการใช้เงินลงทุน 6.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริษัทฯ มีความเข้มแข็งและก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ โครงการต่อยอดฟีนิกซ์มี 6 โครงการ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เพื่อเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งโครงการต่อยอดฟีนิกซ์ ประกอบด้วย โครงการผลิตพาราไซลีน (PX) 1.21 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3.72 แสนตัน/ปี โครงการผลิตโพลีโพรพิลีน คอมพาวด์ (PPC) 3 แสนตัน/ปี โครงการผลิตโพลีออล 1 แสนตัน/ปี โครงการผลิต อะคริลิค แอซิด/ซูเปอร์แอบซอฟเบนต์ โพลีเมอร์ (AA/SAP) กำลังการผลิต AA 1 แสนตัน/ปี และ SAP 8 หมื่นตัน/ปี โครงการ Bio-Hydrogenated Diesel (BHD) 2 ล้านลิตร/เดือนและโครงการผลิตสไตรีน โมโนเมอร์ (SM) 3.50 แสนตัน/ปี

เมื่อโครงการUHV แล้วเสร็จจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันไออาร์พีซีสามารถกลั่นได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่กลั่นน้ำมันอยู่ 1.8 แสนบาร์เรล/วัน ปริมาณน้ำมันเตาผลิตได้ลดลงจาก 23% เหลือเพียง 8% และสามารถผลิตโพรพิลีนเพิ่มขึ้นอีก 3.2 แสนตัน/ปี ทำให้ GIM เพิ่มขึ้นอีก 2-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

พร้อมหาพันธมิตรลงทุน

โดยภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปการหารือร่วมกับบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เพื่อลงทุนโครงการผลิตพาราไซลีน มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการฟื้นตัวของพาราไซลีน ซึ่ง IRPC น่าจะถือหุ้น 49% และ PTTGC 51% ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2561 การร่วมทุนกับ PTTGC ทำให้โครงการเสร็จเร็วขึ้น

ส่วนฐานะการเงินของบริษัทยังไม่แข็งแกร่ง ปีนี้จะใส่เงินลงทุนในโครงการฟีนิกซ์อีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และปีสิ้นสุดโครงการ 2558 อีก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโครงการ UHV ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก่อสร้างแล้วเสร็จเริ่มผลิตกลางไตรมาส 3 ปี 2558 จะทำให้การรับรู้รายได้สูงขึ้นมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะเป็นการเปลี่ยนจากผลผลิตน้ำมันเตาไปเป็นผลผลิตด้านปิโตรเคมี รวมทั้งโครงการฟีนิกซ์แล้วเสร็จ จะทำให้ผลประกอบการของ IRPC มีความผันผวนน้อยลง

สำหรับผลประกอบการปี 2557 ยอดขายเท่ากับปีก่อน เนื่องจากใช้กำลังการผลิตเท่าเดิม แต่จะเน้นการทำให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ดีขึ้นด้วยการลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมให้ดีขึ้น และปีนี้ค่าการกลั่นเฉลี่ยรวม (GIM) จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปีก่อนที่ทำได้ 6.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ขณะที่ค่าการกลั่นที่ดีขึ้นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยแรกส่วนต่างราคาวัตถุดิบกับราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) ในธุรกิจปิโตรเคมียังดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโอเลฟินส์ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน มีการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจัยที่สองจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นภายในประเทศ ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และปัจจัยที่สามบริษัทหันมาใช้น้ำมันดิบในประเทศทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทำให้มีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น 50-60 เซนต์ต่อบาร์เรล

เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม

ล่าสุด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพิ่มศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ลดการนำเข้าเทคโนโลยี ร่วมวิจัยพัฒนาเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับโพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง ระบุเป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในประเทศไทยที่สามารถทดสอบได้อย่างต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ ช่วยประหยัดเวลาได้ถึง 6 เท่า พร้อมบันทึกข้อมูล ประมวลผล และพิมพ์รายงานผลได้

สาเหตุที่ไออาร์พีซีต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนเป็นผลอันเนื่องมาจากปัจจุบันเป็นโลกแห่งการแข่งขันแบบโลกาภิวัตน์หรือโลกไร้พรมแดน ซึ่งตลาดเป้าหมายจะมีขนาดใหญ่และมีคู่แข่งมากขึ้น กอปรกับมาตรการคุ้มครองบริษัทภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงภาษี หรือกฎเกณฑ์ควบคุมต่างๆ ได้ลดลง จนกระทั่งในอนาคตจะไม่มีการคุ้มครองแบบเดิมอีก ทำให้บริษัทต้องพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ ที่มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร

“ถือว่าไออาร์พีซีเป็นผู้ประกอบการอันดับต้นๆ ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้ แต่ตอนนี้เรามีคู่แข่งที่มีศักยภาพสูง มีกำลังการผลิตและเทคโนโลยีที่สูง ซึ่งทำให้คู่แข่งมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังมีคู่แข่งน้อยราย และเครื่องมือสำหรับใช้วิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพผลิตภัณฑ์นั้น ยังไม่มีผู้ผลิตในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม การสร้างเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งทางบริษัทได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ หน่วยงานภาครัฐ คือ วว. จึงได้ร่วมมือกับฝ่ายวิศวกรรมจัดสร้างเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูง ซึ่งเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเรา”

ต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอื่นๆ

โพลีเอทิลีนชนิดมีน้ำหนักโมเลกุลสูง จัดเป็นพลาสติกวิศวกรรม (Engineering Plastic) ซึ่งจะใช้ในงานเฉพาะ เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรืองานทางการแพทย์ หรือการทหาร มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สัมประสิทธิ์ความเสียดทานต่ำ ทนทานต่อการสึกกร่อนและเสียดสีสูง มีความแข็งแรงและทนทานต่อแรงกระแทกสูง และทนต่อสารเคมี ทั้งนี้ ไออาร์พีซี เป็นผู้ผลิต UHMWPE รายแรกในประเทศไทย และรายเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ 6 บริษัท และผู้ผลิตรายอื่นๆ อีกประมาณ 10 บริษัท ซึ่งมีโรงงานกระจายอยู่ทั่วโลก

“การขึ้นรูปของ UHMWPE มีความยากและแตกต่างจากการขึ้นรูปของพลาสติกโดยทั่วไป และจำเป็นต้องมีเครื่องจักรผลิตโดยเฉพาะ ดังนั้นเพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ที่สามารถวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางกายภาพต่างๆ ได้ตามมาตรฐานที่รองรับในแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาขึ้น ผลงานวิจัยร่วมของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และฝ่ายวิศวกรรม วว. ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากเครื่องทดสอบความเค้นการยืดสำหรับผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนชนิดมวลโมเลกุลสูงเครื่องนี้แล้ว บริษัทยังมีแผนงานที่จะร่วมมือกับทาง วว. ในการจัดสร้างเครื่องมือทดสอบทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกในอนาคต”

เตรียมแผนลงทุน 2.2 หมื่น ล.

ไออาร์พีซีได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ศึกษาความคุ้มค่าในธุรกิจต่างๆ ของไออาร์พีซี โดยหากพบว่าธุรกิจใดไม่สร้างผลกำไรที่ดี จะทยอยยกเลิกกิจการนั้นไปภายใน 3-5 ปี ส่วนธุรกิจที่มีอนาคตเติบโตจะมีการเพิ่มงบการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างผลกำไรให้กับไออาร์พีซีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลการศึกษาและการตัดสินใจจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557

ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนควบรวมบริษัทระหว่างไออาร์พีซี กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี แต่แผนดังกล่าวต้องพิสูจน์ได้ว่าการควบรวมจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างผลกำไรให้กับทั้งสองบริษัทดังนั้นจะต้องรอให้ไออาร์พีซีดำเนิน 2 โครงการให้แล้วเสร็จก่อน ได้แก่ โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด (ยูเอชวี) ซึ่งเป็นโครงการย่อยของโครงการฟีนิกซ์ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการดำเนินงาน (เดลต้า) ซึ่งจะได้ทราบถึงรายได้ที่แน่นอนของไออาร์พีซีก่อนพิจารณาแผนควบรวมธุรกิจ ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มทำการศึกษาได้ใน 6 เดือน หรือ 1 ปีจากปัจจุบันนี้

ในปี 2557 ไออาร์พีซีเตรียมใช้เงินลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไปลงทุนไปในโครงการยูเอชวีเพื่อเปลี่ยนกระบวนการกลั่นน้ำมันให้สามารถผลิตน้ำมันได้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะช่วยลดสัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาลงเหลือ 8% จากเดิมที่ผลิตถึง 23% และหันไปผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่กำไรดีกว่าให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเบนซินผลิตเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10% น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 38% เป็น 40% และก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพิ่มจาก 2% เป็น 5% เป็นต้น โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 โดยขณะนี้เสร็จแล้ว61%

ตั้งเป้า 6 ปีฮับปิโตรเลียมอาเซียน

สำหรับการลงทุนในโครงการเดลต้า ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งด้านการผลิต บุคลากร และลดต้นทุน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จใน 1-2 ปีจากนี้ โดยทั้ง 2 โครงการคือยูเอฟวี และเดลต้า จะช่วยเพิ่มกำไรจากค่าการกลั่นให้ไออาร์พีซีเพิ่มขึ้นอีก 1.5-2 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล จากปี 2556 ที่มีค่าการกลั่นอยู่ที่ 7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ค่าการกลั่นโดยรวมปี 2557 ขยับขึ้นมาถึง 9.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยกำไรที่เพิ่มขึ้น 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะช่วยสร้างมูลค่ากำไรให้ไออาร์พีซีถึง 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานต่างๆ ของไออาร์พีซีในปี 2557 ยังเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายจะก้าวเป็นบริษัทปิโตรเลียมชั้นนำของอาเซียนภายในอีก 6 ปี หรือในปี 2563 และก้าวขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีติดอยู่ในสัดส่วน 25% ของโลก

ส่วนธุรกิจโรงกลั่นในปี 2557 นั้นมองว่ายังทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากรายได้ธุรกิจโรงกลั่นจะขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันของโลกเป็นหลัก ซึ่งในปี 2557 มองว่าราคาน้ำมันโลกยังเฉลี่ยอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งลดลงจากปี 2556 ประมาณ 2-3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นจึงทำให้ธุรกิจโรงกลั่นยังทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2556

“เดลต้า” สร้างกำไร 67 ล้านเหรียญ

ไออาร์พีซีวางแผนถึงงานหลักที่จะทำในปี 2557 คือโครงการเดลต้า โดยตั้งเป้าว่าจะมีกำไรจากโครงการนี้ไว้ที่ 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (67 ล้านเหรียญสหรัฐ) และปีหน้าจะเพิ่มแก 50 เซนต์ต่อบาร์เรล ขณะที่ แนวโน้มปิโตรเคมีน่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้กำไรจะมาจาก 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต (Operational Excellence) จำนวน 37 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่สอง ด้านการตลาดและการขาย (Commercial Excellence) ตั้งเป้า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐมาจากด้านการบริหารการจัดซื้อ โดยแต่ละส่วนจะมีทีมพิเศษคอยติดตามความคืบหน้า สรุปโครงการและสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนให้ได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างมาร์จิ้นอีกด้วย โดยงานในส่วนแรก ได้ใช้บริษัท เคบีซี แอดวานซ์ เทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต รวมถึงการนำระบบซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดมาใช้สนับสนุนด้วย ส่วนที่สองเลือกใช้บริษัท แมคเคนซี่ เป็นที่ปรึกษา เพื่อมาช่วยดูว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาดและการขายอย่างไรบ้าง

และที่สำคัญ บริษัทไออาร์พีซีมีจุดเด่นเรื่องนวัตกรรม ซึ่งในปีนี้จะให้ไฮไลท์พิเศษเรื่องการมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่แข็งแรง และมีสินค้าที่มีนวัตกรรมหลายชิ้นงานมาก ปีที่ผ่านมาก็มี 12 ชิ้นงานที่น่าจะทำการตลาดได้ และหากชิ้นงานไหนเริ่มทำการตลาดก็อาจจะต้องเพิ่มงบประมาณในการทำ R&D เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ การขยายการลงทุนของไออาร์พีซีในหลายโครงการ รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2557 บริษัทได้วางแผนทางด้านแหล่งเงินทุนไว้พร้อมแล้ว นอกจากจะใช้กระแสเงินสดจากกำไรของการดำเนินงานแล้วบริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นกู้อายุ 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี ให้แก่ประชาชน

วันที่ 17/04/2557 เวลา 9:42 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

399

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน